การสอนลูกในแบบที่บอกผิด-ถูกให้ชัดเจน

เมื่อคืน หลังจากที่โพสต์ความคิดเห็นเรื่องการสอนลูกในแบบที่บอกผิด-ถูกให้ชัดเจน โดยใช้รูปขององค์กรหนึ่ง ก็มีผู้ท้วงติงและให้ความเห็นมาหลายประเด็น เช่น อาจารย์โพสต์ก้าวร้าวจัง! โพสต์แบบนี้ไม่ถูกเพราะเท่ากับเป็นการตัดสินคน ทำไมจึงไม่รอให้คดีถึงที่สุดก่อน? บางคนก็แสดงความเป็นห่วงกลัวอาจารย์จะถูกฟ้องเพราะไปลงภาพคนอย่างแจ่มชัดอย่างนั้น บางท่านก็ว่า ทำไมไม่พูดถึงคนโกงคนอื่นๆ บ้างล่ะ? บางคนโกงยิ่งกว่านี้เสียอีก
ขอตอบคำถามอย่างนี้ค่ะ
- อาจารย์ไม่ได้มีความโกรธแค้นหรือมีเรื่องส่วนตัวกับใครทั้งสิ้น ในทุกโพสต์ที่เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนี้ หรือเรื่องที่ผ่านมา เช่นการหนีทุน โจ๋พัทลุง-วัยรุ่นที่ก่อความรุนแรง การรับน้องแบบพิศดาร หรือคดีแบ้งค์กรุงไทย ก็ตาม อาจารย์เพียงแต่หยิบเอาเรื่องที่สังคมกำลังสนใจมาอธิบายและให้ความรู้ในฐานะนักวิชาการ แต่ในการให้ความรู้นี้ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวหรือจุดยืนของตัวเองด้วย
- มีบางคนโกงมากกว่านี้อีก ทำไมไม่กล่าวถึงบ้าง? ในอนาคตถ้ามีเวลา ก็คงเอาเคสอื่นๆ มาวิเคราะห์เป็นแบบกรณีศึกษาเช่นกันค่ะ แต่วันนี้ สังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็เลยวิเคราะห์เรื่องนี้ค่ะ
- ไม่ควรให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด
ข้อท้วงติงนี้ก็น่าคิดนะคะ แต่วันนี้อาจารย์คิดว่าสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ผลการตัดสินของศาล แต่เป็นการแสดงออกซึ่งจริยธรรมส่วนตัวและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมค่ะ อาจารย์คิดว่า ถ้าคุณเป็นคนที่อยู่ในสายตาของประชาชน คุณจะต้องดำรงตนให้เหมาะสม คุณจะต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงขึ้นกว่าคนที่ทำงานอยู่ในห้องแลป ที่ไม่มีใครมองเห็น ดังนั้นหากมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของคุณแล้วล่ะก็ คุณควรพิจารณาตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอคำตัดสินอย่างเป็นทางการว่าคุณผิดจริงๆ มันเป็น integrity ของบุคคลค่ะ (คำนี้ ไม่ทราบว่าจะแปลภาษาไทยว่าอย่างไร แต่จะค่อยอธิบายทีหลัง)
หากคุณไม่ได้อยู่ในสายตาประชาชน คุณอยู่ในห้องทดลองกับหลอดแก้ว คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาตัวเอง และสังคมก็คงไม่เรียกร้องให้คุณพิจารณาตัวเองด้วย ทั้งนี้เพราะคุณไม่มีอิทธิพลต่อสังคมนั่นเอง
สังคมไทยเป็นสังคมที่อะลุ้มอล่วย ลืมง่าย ให้อภัยง่าย แต่บางทีก็แยกแยะไม่ออกว่าเรื่องไหนควรอะลุ้มอล่วย ลืมและให้อภัย จนกระทั่งเราไม่มีมาตรฐานสำหรับอะไรเลย ถ้าเรายังคงดำเนินอยู่ในลักษณะนี้ คือช่างมันเถอะ ลืมไปซะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา หรือกลัวที่จะเสียสัมพันธภาพ แคร์ความสัมพันธ์ มากกว่าความถูกผิดแล้วล่ะก็ ในอนาคตสังคมไทยจะเป็นอย่างไร? ชีวิตคนไทยจะเป็นอย่างไร? ลองวาดภาพดูนะคะ
ขอบอกท่านผู้อ่านว่า สิ่งต่างๆที่เกิดในสังคมนี้มีผลกระทบต่อเราทุกคน ในฐานะผู้ใหญ่เราอาจจะแยกแยะได้ว่าอะไรดี อะไรชั่วแต่สำหรับเด็กที่กำลังโตขึ้นมาถ้าไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ถ้าความดี-ความชั่ว ถูก-ผิด เป็นเทาๆ คลุมเครือ อยู่บ่อยๆ ล่ะก็ อะไรจะเป็นเข็มทิศนำชีวิตของเขาล่ะคะ?
อาจารย์ไม่ได้โกรธเกลียดใครเป็นการส่วนตัว แต่อยากจะทำให้สังคมดีขึ้นค่ะ
อ้อ! จะบอกว่าอาจารย์ไม่ใช่คนก้าวร้าวนะคะ แต่ในบางเรื่องอาจารย์ก็จริงจังค่ะ