ข้อระวังในการเลี้ยงหลานของปู่ย่าตายาย การเลือกที่รักมักที่ชัง

เจอคุณยายของเก่งเข้าเมื่อวันก่อน ก็เลยถึงบางอ้อว่าทำไมเก่งจึงมีปัญหา
เก่งวัยหกขวบเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก เคยมีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส แต่พอมีน้องเท่านั้นแหละ ก็เปลี่ยนเป็นเด็กขี้โมโห
ปัญหาที่พ่อแม่หนักใจมากก็คือชอบแกล้งน้องแบบแรงๆ
ไม่กี่เดือนมานี้เก่งหงุดหงิดมากขึ้นกว่าเดิม เรียกว่าอาละวาดได้ทุกวัน ถามพ่อกับแม่ว่าที่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง? แม่ก็บอกว่า
คุณยายย้ายมาอยู่ที่บ้านด้วย
แม่บอกว่า คุณยายเห่อน้องเป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นหลานสาว หน้าตาคล้ายคุณยาย ถ้ามีขนมก็จะให้น้องมากกว่าพี่ชาย บางทีก็ให้แต่น้องคนเดียวจนพี่ต้องเดินไปสะกิดคุณยายแล้วถามว่า คุณยายครับ ไม่มีให้ผมหรือ?
วันนั้นที่คลินิก หมอถามเก่งว่า อยู่ที่บ้านทำอะไรสนุกบ้าง? แค่นั้นเก่งก็ร้องไห้โฮขึ้นมา คุณยายซึ่งนั่งรออยู่ข้างนอกได้ยินเสียงร้องไห้โฮ (เพราะมันค่อนข้างดัง) ก็เปิดประตูเข้ามา พร้อมกับพูดว่า มีเรื่องอะไร? ร้องทำไมกัน? น่าอายจริง คนไข้นั่งรอตั้งเยอะ หมอต้องเดินไปดันตัวคุณยายออกไป แล้วบอกว่า ไม่มีอะไรหรอกค่ะ เดี๋ยวหมอจัดการเอง เก่งมีเรื่องเสียใจบางเรื่องเท่านั้น ก่อนจะออกจากห้องไป คุณยายก็พูดพึมพำว่า ตัวเล็กแค่นี้ คิดมากไปได้
หมอนึกในใจว่า มีคุณยายอย่างนี้ ต้องคิดมากแน่
โชคดีจริงๆที่พ่อกับแม่ยังเข้าใจเก่งอยู่บ้าง ถ้าหากพ่อแม่ไม่เข้าใจล่ะก็ เก่งคงจะแย่
หมอขอภาวนาให้คุณยายย้ายกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเร็วๆ เก่งจะได้สบายใจสักที
วันนี้ขอฝากข้อความถึงปู่ย่าตายายหน่อยว่า ผู้ใหญ่สามารถสร้างรอยร้าวในหัวใจของเด็กได้โดยไม่รู้ตัว
การที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อเด็กแบบเลือกที่รักมักที่ชัง
แบบไม่เข้าใจความรู้สึก แบบตำหนิติเตียน
จะทำให้เด็กรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า การจะเลี้ยงเด็กให้เติบโตขึ้นไปได้ดีนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านต้องระวังว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นได้ช่วยสร้างให้เด็กมีความรู้สึกดีต่อตนเองและมีความนับถือตนเองอย่างมั่นคงหรือไม่
ความรู้สึกว่าตนได้รับการปฏิบัติอย่างยอมรับนับถือและยุติธรรมจะทำให้เด็กรู้สึกมีความพึงพอใจในตนเอง รู้สึกมีความสุข รู้สึกว่าชีวิตนี้น่าอยู่ หากเลี้ยงแบบตรงข้าม
นอกจากตัวเด็กเองจะกลายเป็นคนอมทุกข์แล้ว ยังสามารถทำให้คนอื่นมีความทุกข์ไปด้วย
จะช่วยเลี้ยงหลานทั้งที ก็ควรเลี้ยงให้บวก ไม่ใช่ติดลบ
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ คอร์สออนไลน์ สร้างความนับถือตนเอง และหนังสือเอเวอเรส พาลูกค้นหาความนับถือตนเอง