ความรุนแรงในครอบครัว

เห็นข่าวหมอถูกตัดสินประหารชีวิตแล้วก็สะท้อนใจ….เคสแบบนี้เป็นกรณี
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือ domestic violence
นึกถึงหลายเคสที่เคยดูแล ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย สามีเมาเหล้า ภรรยาทนไม่ไหวก็ไปด่าเอาตอนเมา ก็เลยโดนเข่าเสียน่วม
วันนี้ขอเอาสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือ “จิตบำบัดและการให้คำปรึกษาครอบครัว” และงานวิจัยในต่างประเทศมาเล่าให้ฟังค่ะ
ในต่างประเทศมีสถิติที่น่าสนใจคือ
-85% ของความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นสามีกระทำต่อภรรยา
-ในกรณีส่วนใหญ่ สามีทำร้ายภรรยาเพราะบันดาลโทสะ (offensive) แต่ภรรยาทำร้ายสามีเพราะต้องการป้องกันตัวเอง (defensive)
-ในสหรัฐอเมริกาผู้หญิงถูกสามี (หรือคนรัก) ฆ่าตายถึง 4000 คนต่อปี
คนชอบถามว่าถูกทำร้ายแบบนั้นแล้วทำไมยังทนอยู่? ทำไมไม่หนี?
(แต่อาจารย์ว่า คำถามน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า –ทำไมผู้ชายถึงไม่ปล่อยให้เธอไปซะ?)
คำตอบคือผู้หญิงหลายคนเกิดการเรียนรู้ว่า ฉันทำอะไรไม่ได้ ฉันช่วยตัวเองไม่ได้ ที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า learned helplessness สิ่งนี้ทำให้เธอทนเป็นกระสอบทรายต่อ
แน่นอน มีผู้หญิงบางคนทนไม่ไหว พยายามเดินจากไป แต่หลายคนพบว่า ยิ่งหนีก็ยิ่งตาย จากสถิติ 75% ของภรรยาที่ถูกฆ่านั้นเพราะว่าพยายามหนีหรือตีจากสามี
มันก็เลยถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือก (ละไว้ฐานเข้าใจว่าเลือกอะไร!!!)
การศึกษาแบบวิเคราะห์กรณีอย่างละเอียดที่เรียกว่า case study พบว่าผู้หญิงที่ลงมือฆ่าสามีนั้นส่วนใหญ่ทำไปเพราะสถานการณ์มัน “สุดทน” คือสามีทำรุนแรงต่อเธอมากขึ้นเรื่อยๆ (บางรายตัดสินใจทำร้ายสามี เพราะสามีขู่จะฆ่าเธอ) รวมทั้งเพราะต้องการปกป้องลูก รวมทั้งสมาชิกคนอื่นในครอบครัว
ที่ลำบากสำหรับผู้หญิงคือ เมื่อเธอตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ตำรวจหรือผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า ที่สามีเคยกระทำต่อเธอนั้นไม่ได้รุนแรงเท่าไหร่ แต่ทำไมเธอกลับทำเขาถึงตาย?
การกระทำของเธอมักจะถูกพิพากษาว่าเป็นการจงใจ ไม่ใช่เพื่อปกป้องตนเอง
คดีแบบนี้ต้องมองในแง่ระบบ (systems) ปัญหาครอบครัวมันเป็นกลไกแบบวงกลม (circular causality) ความผิดไม่ใช่ของใครคนเดียว ทั้งคู่มีส่วนในการทำให้เกิดปัญหา พอปัญหามันรุนแรงจนถึงจุดหนึ่งแล้วไม่มีทางออก หรือไม่มีระบบอื่นเข้ามาช่วย มันก็เลยลงเอยแบบนี้
ขอเล่าแค่นี้ ใครอยากเข้าใจลึกซึ้งกว่านี้ก็ไปอ่านเอาเองนะคะ บทที่ 15 ค่ะ
#ปั้นใหม่ #ปั้นใหม่โดยอาจารย์หมออุมาพร