ลูกในฝัน อยากได้ลูกแบบไหน และแบบไหนดีที่สุด?

วันนี้มี 2 คำถาม
1.อยากได้แบบไหน?
2.แบบไหนดีที่สุด?
โจทย์ : บอกลูกให้ไปเทขยะ
ตัวเลือก
ก. ลูกเดินไปเท สีหน้ายิ้มแย้ม “ได้เลย ผมชอบเทขยะ”
ข. นิ่งเฉย “ไม่ไปอ่ะ แม่ไปเองสิ”
ค. โมโห “ทำไมต้องไปด้วยล่ะ?”
ง. ไม่พูดอะไร หน้าบึ้งเดินลงส้นปึงปัง สักพักก็เอาถังเปล่ามาวาง
ลูกในฝันของคุณจะเป็นแบบไหน

วิเคราะห์ตัวเลือก
ก. ลูกเดินไปเท สีหน้ายิ้มแย้ม “ได้เลย ผมชอบเทขยะ”
อ.อุมาพรชวนคิด :
นี่อาจจะเป็นลูกในฝันของพ่อแม่หลายคน แต่สงสัยว่าหากเป็นสิ่งที่ลูกไม่ชอบลูกจะทำไหม ในเด็กหลายคน ตอนเล็กๆ พ่อแม่ไม่ได้ขออะไรมากมายและเด็กก็นึกสนุกที่จะทำ แต่พอโตขึ้นพ่อแม่เรียกร้องให้ทำหลายสิ่งมากขึ้น เด็กกลับไม่พอใจจะทำ ก็จะเกิดความหงุดหงิดแบบข้อ ค.
พูดง่ายๆคือฝันดีของพ่อแม่อาจจะกลายเป็นฝันร้ายเมื่อตอนโต
( เคสแบบนี้เจอบ่อยมาก พ่อแม่บอกว่าเมื่อเล็กๆเรียบร้อยไม่เคยมีปัญหาอะไร เป็นลูกที่ว่านอนสอนง่าย แต่พอโตขึ้นกลับหน้ามือเป็นหลังมือ)
ข. นิ่งเฉย “ไม่ไปอ่ะ แม่ไปเองสิ”
อ.อุมาพรชวนคิด :
ลูกดูเหมือนไม่มีสิ่งที่เรียกว่า empathy หรือความเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น เช่นเข้าใจว่าแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เข้าใจว่าน้องต้องการความช่วยเหลือ การขาด empathy ทำให้ชีวิตของคนที่อยู่ด้วยกับลูก (โดยเฉพาะตัวคุณเอง) รันทด ลูกเองก็จะอยู่ยากในสังคมนอกบ้านเพราะจะไม่มีใครรักลูก
ค. โมโห “ทำไมต้องไปด้วยล่ะ?”
อ.อุมาพรชวนคิด :
ลูกขาดสิ่งที่เรียกว่า frustration tolerance ซึ่งก็คือความสามารถที่จะอดทนกับความคับข้องใจ หรือสิ่งที่ตนไม่พอใจ ชวนให้สงสัยว่าถูกเลี้ยงมาอย่างตามใจ เอาอกเอาใจมากหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นเด็กที่มีแนวโน้มบุคลิกภาพขี้โมโห (difficult temperament) หรือหากพ่อแม่เป็นคนขี้โมโห ลูกก็อาจจะได้พันธุกรรมของความขี้โมโหติดมา
ง. ไม่พูดอะไร หน้าบึ้งลงส้นปึงปัง สักพักก็เอาถังเปล่ามาวาง
อ.อุมาพรชวนคิด :
ลูกแบบนี้เป็นลูกในฝันของอาจารย์อุมาพร เพราะมีทั้ง frustration tolerance และมีวินัย แม้ไม่พอใจก็ยังอุตส่าห์บังคับตัวเองให้ไปทำตามที่สั่งแม้จะทำอย่างเสียไม่ได้ ถ้าอาจารย์เป็นพ่อแม่ ก็จะไม่สนใจอาการหน้าบึ้งกระฟัดกระเฟียดเลย จะสนใจแต่ผลลัพธ์ว่าสัมฤทธิ์ผล จะชมลูกด้วยว่า “ขอบใจมากลูกที่อุตส่าห์ทำ แม่รู้ว่าหนูไม่อยากทำ แต่หนูก็ยังพยายามทำจนเสร็จ”