ปัญหาพิเศษ สมาธิสั้น ออทิสติก พัฒนาการช้า ฯลฯ

จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น?

ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า

มาดูกันว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือกำลังสงสัยว่าเป็นหรือไม่..

ลูกเป็นโรคสมาธิบกพร่องหรือเปล่า ?

ในปัจจุบันผู้ปกครองจำนวนมากมีความวิตกกังวลเรื่องลูกไม่มีสมาธิในการเรียน แต่ละสัปดาห์จะมีผู้ปกครองพาลูกมาปรึกษาดิฉันที่โรงพยาบาลหลายราย ในเด็กหลายคนที่ผู้ปกครองบ่นว่าไม่มีสมาธินั้น เมื่อดิฉันตรวจดูแล้วก็พบว่าเด็กปกติดี ในบทนี้ดิฉันจึงขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ในบางประเด็น เพื่อว่าท่านผู้อ่านที่กำลังสงสัยว่าลูกจะเป็นโรคนี้หรือไม่นั้น จะได้รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป


เมื่อไรควรจะสงสัยว่าลูกมีสมาธิบกพร่อง ?

คำตอบก็คือ ควรจะสงสัยว่าลูกมีปัญหาสมาธิบกพร่องเมื่อลูกทำอะไรไม่ได้นาน ไม่สามารถจดจ่อกับงาน หรือสิ่งของตรงหน้าได้นานเพียงพอ หรือมีอาการใจลอย เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จะเล่นของเล่นแต่ละชิ้นได้ช่วงสั้นๆ แล้วเปลี่ยนของเล่นไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเด็กโตก็มักจะไม่สามารถตั้งใจทำการบ้านได้เสร็จ มักจะวอกแวก เหลียวซ้ายแลขวา ชวนคนอื่นคุย ลุกขึ้นเล่น ทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา หรือใจลอยช่างฝัน ทำเลขเพียงหนึ่งข้อก็อาจใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมง
หากลูกมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ก็น่าจะสงสัยว่ามีสมาธิบกพร่อง และถ้าลูกมีอาการซนมาก อยู่ไม่สุข หรือมีอุบัติเหตุบ่อยเพราะทำอะไรไม่ค่อยระวังละก็มีเปอร์เซนต์สูงทีเดียวที่จะเป็นโรคสมาธิบกพร่อง

ลูกยังดูโทรทัศน์และเล่นวีดีโอเกมได้เป็นชั่วโมง
จะเป็นโรค ADD ได้อย่างไร ?

แม้ลูกจะดูโทรทัศน์ เล่นวีดีโอเกม อ่านการ์ตูน หรือทำอะไรที่ชอบได้นานหลายชั่วโมง ลูกก็สามารถเป็น ADD ได้ ปัญหาสำคัญของโรค ADD ไม่ได้อยู่ที่ไม่มีสมาธิเอาเสียเลย แต่อยู่ที่การควบคุมสมาธิและการปรับเปลี่ยนสมาธิ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เด็ก ADD ไม่ได้มีปัญหาเรื่อง sustained attention แต่มีปัญหาเรื่อง selective attention มากกว่า ( ดูบทที่ 1 ) การที่คนทั่วไปเรียกโรคนี้ว่า โรคสมาธิสั้นนั้นเป็นการเรียกที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก จริงๆ แล้วต้องเรียกว่า โรคสมาธิบกพร่อง ทั้งนี้เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้ยังสามารถตั้งสมาธิได้นาน เพียงแต่จะทำการปรับเปลี่ยนและควบคุมสมาธิได้ไม่ดีเท่านั้น
ถ้าเป็นสิ่งกระตุ้นที่เข้มข้น น่าตื่นเต้นและน่าสนใจ เด็กก็จะมีสมาธิได้นาน แต่ถ้าเป็นสิ่งกระตุ้นที่น่าเบื่อหรือไม่ชอบ เด็กจะไม่สามารถบังคับตนเองให้จดจ่อได้ ถ้าเด็กไม่ชอบวิชาภาษาไทย หนังสือภาษาไทยก็จะเป็นสิ่งกระตุ้นที่น่าเบื่อ แม้รู้ว่าพรุ่งนี้จะสอบ เด็กก็จะตั้งสมาธิที่จะอ่านไม่ค่อยได้ ในขณะที่เด็กปกติสามารถตั้งใจอ่านได้จนจบ

พ่อแม่มักเล่าว่าลูกมีสมาธิกับโทรทัศน์มาก แม้เมื่อพ่อแม่เรียกก็ดูเหมือนไม่ได้ยิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กมีลักษณะจดจ่อกับสิ่งกระตุ้นตรงหน้ามากเกินไป หรือที่เรียกว่า overfocus จนไม่สามารถรับรู้สิ่งกระตุ้นสำคัญอื่นๆ ในขณะที่เด็กปกติเมื่อกำลังมีสมาธิกับสิ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถรับรู้สิ่งกระตุ้นอื่นๆ ได้และเลือกว่าสิ่งกระตุ้นใดมีความสำคัญและจำเป็นที่ตนจะต้องตอบสนองด้วย

บางทีลูกก็ดูมีสมาธิดี บางทีก็ไม่มี จะเป็นโรค ADD ไหม ?

ลักษณะที่บางครั้งดูมีสมาธิและบางครั้งไม่มีนั้นเป็นลักษณะของโรค ADD ที่มักทำให้ผู้ใหญ่สับสน การที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นเพราะเด็กไม่สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนสมาธิได้ดีพอ เด็กไม่สามารถมีสมาธิเมื่อจำเป็นต้องมีสมาธิ แต่จะมีสมาธิดีเกินไปเมื่อไม่จำเป็น (เช่น มีสมาธิดีเกินไปจนไม่ได้ยินเสียงแม่เรียกขณะดูโทรทัศน์) ลักษณะแบบนี้ทำให้บางครั้งเด็กดูตั้งใจ แต่บางครั้งดูไม่ตั้งใจ บางครั้งก็ทำการบ้านได้ดีและถูกหมดทุกข้อ แต่บางครั้งก็ทำผิดหมดทุกข้อ ตอนเปิดเทอมใหม่ๆ เด็กยังตื่นเต้นกับการเรียนก็จะตั้งใจทำคะแนนได้ดี พอปลายเทอมก็เริ่มเบื่อและคะแนนตกลง ลักษณะแบบนี้ก็คือ performance inconsistency หรือการทำงานอย่างไม่คงเส้นคงวา ที่กล่าวไว้ในบทที่ 5 นั่นเอง ลักษณะนี้ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจผิด
คิดว่าเด็กไม่ยอมทำ ขี้เกียจ และไม่พยายามเท่าที่ควร

เมื่อไรควรจะพาลูกมาพบแพทย์ ?

หากลูกยังเล็ก เช่น อายุ 2-3 ขวบ อยู่เพียงชั้นอนุบาล ประถม 1 หรือ ประถม 2 และมีเพียงความสนใจช่วงสั้นๆ อย่างเดียว คุณก็คงไม่ต้องรีบร้อนพามาพบแพทย์ เพราะเป็นการยากที่จะบอกว่าสมาธิที่ไม่ดีนั้นเป็นของปกติหรือผิดปกติ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กๆ มักจะมีสมาธิค่อนข้างสั้นอยู่แล้ว (ยกเว้นกรณีที่มีอาการซนอยู่ไม่นิ่งอย่างรุนแรง ก็จะบอกได้ชัดเจนว่าเป็นโรคแน่) หากคุณพาลูกวัยนี้มาพบแพทย์ๆ ส่วนใหญ่มักจะบอกว่า “ให้รอดูไปก่อน”

แต่หากลูกมีอาการสมาธิบกพร่องอย่างมาก แถมมีอาการซนอยู่ไม่นิ่ง มีอุบัติเหตุบ่อย ไม่ค่อยระมัดระวังตนเอง ดื้อมาก ปราบอย่างไรก็ไม่ได้ผลจนคุณหรือคุณครูที่ดูแลก็รู้สึกเหนื่อย หัวปั่นไปหมด และทำให้เกิดอารมณ์เสียกับเด็ก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ควรจะพาลูกมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยในการปรับพฤติกรรมของลูกไม่ให้มีปัญหาในการเลี้ยงดูมากเกินไป
ถ้าลูกโตแล้ว เช่น อยู่ประถมปีที่ 3 ขึ้นไป และมีอาการสมาธิบกพร่องจนมีผลกระทบถึงการเรียน เช่น การเรียนไม่ดีหรือมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น สอนอะไรก็ไม่ฟัง (อาจเป็นเพราะจำไม่ได้หรือไม่ได้ยินที่คุณพูด) ไม่ทำตามกฎระเบียบ ถูกครูดุบ่อยๆ รบกวนเพื่อนในชั้นเรียน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ฯลฯ หากมีปัญหาเหล่านี้ก็ควรพามาพบแพทย์ เพื่อจะจัดการกับปัญหาพฤติกรรมดังกล่าวเสียตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ให้ปัญหานั้นซับซ้อนขึ้นจนยากแก่การแก้ไข

ถ้าไม่พาลูกมาพบแพทย์ ลูกจะหายเองหรือไม่ ?

แต่เดิมเข้าใจกันว่าโรคนี้จะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่จากการศึกษาวิจัยติดตามเด็ก ADD เป็นระยะเวลานานจนโตเป็นผู้ใหญ่พบว่า โรคนี้ไม่หาย แต่อาการอาจเปลี่ยนไปบ้าง เช่น อาการซนอยู่ไม่นิ่งอาจดีขึ้น เนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้นความสามารถในการควบคุมตนเองจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอาการสมาธิบกพร่องนั้นยังคงมีอยู่
ประเด็นสำคัญก็คือ หากลูกเป็นโรคนี้แล้วไม่พามารักษา ก็จะเกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ เช่น ถ้าในระยะแรกลูกมีเพียงปัญหาการเรียน หากทิ้งไว้นานโดยไม่แก้ไข ลูกก็อาจเกิดปัญหาทางอารมณ์หรือพฤติกรรมตามมา เพราะเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าความสามารถทางการเรียนที่ต่ำนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น และถ้าหากลูกของคุณมีปัญหาพฤติกรรมอยู่แล้ว ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยสรุปแล้ว เด็ก ADD ที่ไม่ได้รับการรักษามักจะมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น อารมณ์เศร้า มีภาพลักษณ์ของเองในเชิงลบ มีปัญหาพฤติกรรม คือ ต่อต้าน เกเร และอาจมีการใช้สารเสพติดหรือทำผิดกฎหมายได้

หากไม่แน่ใจ…พาลูกมาหาหมอดีกว่า ?

หากคุณสงสัยว่าลูกเป็น ADD หรือไม่ ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ซึ่งทำงานช่วยเหลือดูแลเด็กที่มีปัญหาสมาธิบกพร่อง ถ้าเป็นไปได้คุณควรนำลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก ที่แนะนำเช่นนี้เพราะเด็กที่มีปัญหาสมาธิบกพร่องนั้นมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น ปัจจัยทางอารมณ์ บุคลิกภาพ และการเลี้ยงดู ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ลักษณะอาการของโรค ความรุนแรง และการพยากรณ์โรคแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ การช่วยเหลือที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไปด้วย จิตแพทย์เด็กจะสามารถทำการประเมินที่ละเอียดและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกของคุณ

แนะนำอ่านหนังสือ “สร้างสมาธิให้ลูกคุณ” และ บทเรียนออนไลน์ “หลักสูตรดูแลลูกสมาธิสั้น”

อ่าน โรคสมาธิสั้นรักษาหายไหม..
ทำไมลูกจึงไม่มีสมาธิ


Similar Posts