ฝึกทักษะชีวิต (Life Skills) ช่วงปิดเทอมกันเถอะ

ช่วงปิดเทอมนี้สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำคือการฝึกทักษะชีวิต (life skills) อันที่จริงทักษะชีวิตมีหลายอย่าง แต่ทักษะพื้นฐานก็คือทักษะในการช่วยเหลือตนเองและทักษะในการทำงานบ้าน
เด็กจำนวนมากไม่มีทักษะนี้เพราะพ่อแม่โฟกัสแต่การเรียน ช่วงเปิดเทอมก็ต้องเรียนหนังสือหนัก พอปิดเทอมก็เรียนพิเศษเพิ่มอีก บางบ้านคิดว่าลูกเหนื่อยมากแล้ว ปิดเทอมให้พักเต็มที่ก็แล้วกัน เด็กเลยไม่ได้ฝึกอะไร
เชื่อไหมว่าเด็กบางคนอยู่ป. 4 แล้วยังจะต้องป้อนข้าวให้ บางคนอยู่ม. 3 แล้วก็ยังไม่เคยซักกางเกงในเอง!
การฝึกทักษะชีวิตหรือ Life Skills
เริ่มต้นเลยนะคะ อย่างแรก
หัดให้ลูกช่วยเหลือตนเอง
แปรงฟันเอง อาบน้ำเอง กินข้าวเอง เลือกเสื้อผ้าเอง จัดเตียงเอง ทำความสะอาดห้องเอง หากโตหน่อยก็หัดทำกับข้าวเล็กๆน้อยๆบ้าง ซักถุงเท้าซักกางเกงในเอง ฯลฯ การฝึกให้ทำงานบ้านควรทำเป็นตารางว่าแต่ละวันต้องทำอะไร และแนะนำว่าฝึกสัก 2 เดือนอย่างต่อเนื่อง
พ่อแม่หลายคนสงสัยว่า
งานบ้านแบบไหนที่เด็กควรทำ?
มีหลายอย่างค่ะ เลือกให้เหมาะกับอายุ เช่นกวาดบ้าน ถูบ้าน ช่วยตั้งโต๊ะกินข้าว เก็บโต๊ะกินข้าว ล้างจาน ช่วยทำอาหาร รดน้ำต้นไม้ กวาดลานบ้าน ช่วยล้างรถของคุณพ่อที่นั่งไปโรงเรียนทุกวัน เป็นต้น (ลองนึกดูว่าตอนคุณเป็นเด็ก คุณทำอะไรบ้าง)
อุปสรรคที่พบบ่อยคือ
ลูกบอกว่ามีแม่บ้านแล้ว
ทำไมต้องทำด้วย? ตอบลูกไปเลยว่าเพราะพ่อแม่ต้องการฝึกให้ลูกเป็นคนเก่ง แล้วอย่าลืมห้ามแม่บ้านทำแทนในช่วง 2 เดือนที่ปิดเทอม อุปสรรคข้อที่สองก็คือ ความเข้าใจผิดว่าลูกทำเป็นแล้ว ไม่ต้องมากะเกณฑ์ให้ทำอีกหรอก
“ทำเป็น” กับ “ทำอย่างรับผิดชอบ”
แตกต่างกัน เชื่อว่าเด็กทุกคน พอสอนสักนิดว่ากวาดบ้านอย่างไร แป๊บเดียวก็กวาดได้แน่ แต่จะมีสักกี่คนที่กวาดทุกวันหรืออย่างน้อยวันเว้นวัน ตามที่พ่อแม่มอบหมาย การทำสนุกๆ นานๆที นั้นง่ายมาก แต่การทำสม่ำเสมอ ทำแม้ตัวเองจะไม่ชอบ ทำเพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องไม่บิดพริ้วนั้น ขอบอกว่า ยากมาก
การช่วยเหลือตนเองและการทำงานบ้านเป็นประจำ นอกจากทำให้ลูกเก่งขึ้น จัดการตัวเองได้ดี อยู่รอดได้ยามที่ไม่มีใครคอยช่วยแล้ว ยังเป็นการฝึกสมอง สมองจะแก้ปัญหา (problem solving) และ วางแผนเป็นขั้นตอน (planning) เก่งขึ้นด้วย
ที่สำคัญ ลูกจะได้เรียนรู้เรื่อง ความรับผิดชอบ และการรู้จัก “ให้”
ซึ่งทั้งสองเป็นคุณลักษณะชีวิต (character strengths) ที่พ่อแม่ต้องสร้างขึ้นในตัวลูก หากเด็กสามารถทำเพื่อหน่วยเล็กๆ เช่นครอบครัวได้ มันก็จะเป็นการสร้างอุปนิสัยที่จะ “ให้” และทำเพื่อส่วนรวมหรือสังคมที่กว้างขึ้นเมื่อเขาโตขึ้น
ศึกษาเรื่องคุณลักษณะชีวิต (character strengths) เพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตร เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี