ซึมเศร้าในวัยรุ่น อันตรายกว่าโควิด

“ช่วงนี้หนูไม่รู้เป็นยังไง อยู่เฉยๆก็ร้องไห้ มันไม่มีสาเหตุ ไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้ทุกข์ใจเลย แต่มันรู้สึกเศร้าหดหู่ ….แล้วบางทีมันก็รู้สึกเหนื่อย รู้สึกว่าทำไมทุกอย่างมันต้องแย่แบบนี้ด้วย ทำไมใช้ชีวิตแล้วรู้สึกเหนื่อยมาก เหนื่อยทุกเรื่อง แต่ก็ไม่รู้ว่าเหนื่อยเรื่องอะไร…. หลายครั้งที่รู้สึกเหงาแม้ว่าจะมีเพื่อนอยู่รอบตัว แต่ก็รู้สึกว่า ข้างในใจมันโหวงเหวง อยากให้มีคนเข้าใจเรา….รู้สึกว่าอยากจะหายตัวไปแล้วค่อยกลับมา บางทีก็คิดว่านอนหลับไปไม่ตื่นก็น่าจะดี”
วัยรุ่นเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายโดยที่พ่อแม่ไม่ได้ทันสังเกต ที่ยากก็คือ “ซึมเศร้า” เป็นความรู้สึก และวัยรุ่นมักจะเก็บความรู้สึกไว้ข้างในคนเดียว ไม่ค่อยเล่าให้ใครฟัง แม้แต่กับพ่อแม่เวลามาพบจิตแพทย์ สิ่งหนึ่งที่จิตแพทย์จะใช้ประเมินว่าเป็นซึมเศร้ามากหรือน้อยแค่ไหนก็คือใช้แบบสอบถามที่วัดความรู้สึก ที่ใช้บ่อยๆก็คือแบบสอบถาม CDI (Children’s. Depression Inventory-อาจารย์ได้แปลเป็นภาษาไทยและทำการวิจัยคุณสมบัติทางสถิติไว้เมื่อยี่สิบปีมาแล้ว และปัจจุบันยังใช้กันในงานวิจัยทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นอยู่)
การสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในวัยรุ่นอายุ 12-20 ปีความชุกของอาการซึมเศร้าคือ 18% (อาการซึมเศร้ารุนแรง พบ 11.31 %) หญิงพบบ่อยกว่าชาย 2.5 เท่า
พูดง่ายๆว่าในวัยรุ่น 10 คน จะซึมเศร้า 2 คน และมีอาการรุนแรง 1 คน
อยากเตือนพ่อแม่ว่า ถ้ามีลูกวัยรุ่นก็ต้องระวังโรคซึมเศร้าไว้ด้วย อันตรายยิ่งกว่าโควิดอีกนะจะบอกให้!
ปล.อยากแนะนำให้พ่อแม่อ่าน “สร้างEQให้ลูกคุณ” และเรียนบทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี”
จะได้เชื่อมโยงกับลูกและช่วยลูกจัดการอารมณ์ได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคซึมเศร้าในอนาคต