รู้จักแบบทดสอบไอคิว IQ ระดับสติปัญญา

ไอคิว (IQ) มาจากคำว่า Intelligence Quotient ซึ่งเป็นคำที่ William Stern ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1912 เพื่อเรียกระดับความฉลาดหรือเซาวน์ปัญญาของบุคคล ในสมัยก่อนค่าไอคิวได้มาจากการคำนวณว่า ความสามารถของบุคคลนั้น คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ของความสามารถที่ควรจะเป็นตามอายุ โดยมีสูตรง่ายๆ
ไอคิว= ความสามารถที่วัดได้ (ปี) X100
อายุจริง (ปี)
ตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 10 ปี แต่วัดความสามารถต่างๆได้เท่ากับเด็กอายุ 5 ปี ค่าไอคิวก็เท่ากับ 50 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการวัดค่าไอคิวไม่ได้ใช้วิธีคำนวณดังกล่าว แต่จะใช้แบบทดสอบที่ได้มาตรฐานซึ่งมีเกณฑ์ว่า เด็กอายุนั้นๆ เมื่อทำแบบทดสอบได้ในระดับเท่านี้แล้ว จะมีค่าไอคิวเท่าไร แบบทดสอบที่ใช้กันส่วนใหญ่ในเด็กเล็กคือ แบบทดสอบ Stanford Binet และในเด็กโตคือ Wechsler Intelligence Scale for Children (WISC)
ค่าไอคิวเชื่อถือได้แค่ไหน?
ในปัจจุบันมีแบบทดสอบความฉลาดอยู่หลายแบบ ซึ่งก็จะให้ค่าตัวเลขออกมาอย่างชัดเจนว่า เด็กมีเชาวน์ปัญญาอยู่ในระดับใดเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไป อย่างไรก็ตามมีผู้โต้แย้งเกี่ยวกับการวัดความฉลาดของคนเราด้วยแบบทดสอบดังกล่าว เพราะถือว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่มีความหมายกว้างและมีความสลับซับซ้อน ไม่สามารถวัดออกมาได้ด้วยวิธีทดสอบเพียงไม่กี่วิธี
แม้จะมีข้อจำกัดว่า แบบทดสอบไม่สามารถวัดเชาวน์ปัญญาทุกด้านของบุคคลได้ก็ตาม แต่ผลที่ได้จากแบบทดสอบก็ถือว่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงวิธีการและความสามารถในการคิด การใช้เหตุผลรวมถึงการแก้ปัญหาของบุคคลได้ในระดับหนึ่ง
การทดสอบไอคิวจะเชื่อถือได้แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่า ผู้ทำการทดสอบมีความรู้และความชำนาญแค่ไหน และเด็กให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่หรือไม่ หากนักจิตวิทยาที่ทำการทดสอบมีความชำนาญมาก และเด็กให้ความร่วมมือในการทดสอบเป็นอย่างดี ผลการทดสอบก็จะมีความแม่นยำมากเช่นกัน
ค่าไอคิวระดับต่างๆ
โดยทั่วไปมีการจัดระดับไอคิว ดังต่อไปนี้
ค่าไอคิว 90-109 จัดว่าเป็นค่าปกติสำหรับประชากรทั่วไป
ค่าไอคิวต่ำกว่า 70 ถือว่าเป็นภาวะสติปัญญาบกพร่องหรือปัญญาอ่อนซึ่งพบได้ร้อยละ 1 ในประชากรทั่วไป
เด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับน้อย ไอคิว 50-69 มักจะเรียนหนังสือในชั้นประถมได้ แต่จะเรียนอย่างยากลำบาก ไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องสอนช้าๆและสอนซ้ำๆ นอกจากนี้เด็กมักสอบตกบ่อย ในกลุ่มนี้ความล่ช้าทางสติปัญญามักเป็นเพราะเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีการกระตุ้นการเรียนรู้เท่าใดนัก ต่างจากกลุ่มที่ไอคิวต่ำกว่า 50 ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางชีวภาพ เช่น
การติดเชื้อทางสมองหรือความผิดปกติของโครโมโซม เป็นต้น
เด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับกลาง ไอคิวระหว่าง 40-49 มักจะเรียนหนังสือไม่ได้ แต่จะสามารถฝึกงานอาชีพง่ายๆได้
ถ้าเป็นปัญญาอ่อนระดับรุนแรง คือ ไอคิวระหว่าง 20-39 จะสามารถทำตามคำสั่งง่ายๆได้ แต่จะต้องมีคนคอยกำกับดูแลด้วย
ถ้าค่าไอคิว ต่ำกว่า 20 ลงไปแล้วจะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และต้องอาศัยคนคอยช่วยเหลือดูแลตลอดเวลา

ลูกไม่มีปัญหาอะไร ควรวัดไอคิวไหม?
ผู้ปกครองหลายคนชอบพาลูกมาขอทำการทดสอบไอคิว เพราะอยากรู้ว่าลูกมีความฉลาดแค่ไหน โดยทั่วไปเราไม่ทำการทดสอบไอคิว หากไม่มีข้อบ่งชี้หรือเหตุผลที่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะการแปลผลอย่างไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรรู้เกี่ยวกับการทดสอบไอคิว คือ
1. เราจะไม่ใช้ค่าไอคิวเพียงตัวเดียวมาเป็นเครื่องตัดสินความฉลาดของเด็ก เราจะต้องใช้ข้อมูลอื่นมาประกอบด้วย เพื่อจะดูความสามารถของเด็กในทุกด้านเท่าที่จะทำได้
2. ต้องรู้ว่า การทดสอบไอคิวเป็นเพียงการวัดความสามารถในปัจจุบันในชั่วโมงที่ทำการทดสอบเท่านั้น มีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้ค่าไอคิวเปลี่ยนแปลงไปได้อีก เช่น การเปลี่ยนแปลงในพัฒนาการของเด็กหรือสภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยอยู่ในสภาวะที่ไม่ดีหรือถูกทอดทิ้ง หากได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมและให้โอกาสเด็กเรียนรู้มากขึ้น ค่าไอคิวของเด็กก็จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ในทางตรงกันข้ามเด็กที่เคยมีไอคิวในระดับปกติธรรมดา แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ที่ดี หรือสมองได้รับอันตรายเช่น สมองอักเสบ เมื่อหายป่วย ค่าไอคิวก็อาจลดลงได้
3. ไอคิวเป็นเพียงการวัดความฉลาดเพียงด้านเดียวเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าการวัดไอคิวเป็นการประเมินความฉลาดที่ไม่ครบถ้วนพอ เพราะความฉลาดมีหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านการคิดหรือการจำที่วัดได้จากแบบทดสอบเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนอาจเล่นดนตรีได้เก่ง แต่เรียนหนังสือไม่เก่ง เมื่อทำการทดสอบอาจได้คำไอคิวในระดับ 85 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะแบบทดสอบไอคิวนั้นไม่ได้วัดความสามารถทางดนตรีของเด็ก เป็นต้น
4. เราจะไม่ทำการทดสอบไอคิวแบบพร่ำเพรื่อ แต่จะทำต่อเมื่อมีเหตุผลที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เด็กมีความล่าช้าทางพัฒนาการ มีปัญหาทางสมอง (เช่น มีการผ่าตัดสมอง มีอุบัติเหตุรุนแรง หรือเด็กมีปัญหาการเรียนอย่างมาก แม้จะพยายามแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่การเรียนไม่ดีขึ้น เป็นต้น
5. เราจะต้องวิเคราะห์ผลของ subtest ทั้งหมดให้ละเอียด ไม่ใช่เพียงดูค่า full-scale IQ เท่านั้น
ปัญหาที่พบบ่อยในการแปลผลการทดสอบไอคิวก็คือ เรามักให้ความสำคัญกับตัวเลขหรือค่าไอคิวที่วัดได้มากเกินไปและใช้ตัวเลขนั้นมาเป็นเครื่องตัดสินเด็ก ผู้ปกครองอาจสบายใจถ้าลูกมีค่าไอคิวสูง แต่หลายคนเกิดความทุกข์ใจ เมื่อผลการทดสอบพบว่าเด็กมีค่าไอคิวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ พ่อแม่บางคนเกิดความท้อแท้หมดหวังในตัวลูกไปเลยก็มี

หากลูกคุณกำลังมีปัญหาหรืออยากพัฒนากาการเรียนให้ดีขึ้น
แนะนำอ่านหนังสือ “ปัญหาการเรียนและเทคนิคช่วยให้ลูกเรียนดี”