บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก | บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น

ทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่ง เรียนดีขึ้น?

ลูกเรียนเก่ง

อันนที่จริงการสอนให้ลูกเรียนเก่งนั้นไม่มีสูตตายตัว เด็กแต่ละคนย่อมมีความถนัดในแต่ละด้านแตกต่างกันไป คำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยเสริมรากฐานให้ลูกของคุณพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในทุก ๆ ด้าน

ทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่งขึ้น เรียนดีขึ้น

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “เรียนเก่ง” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ด้านวิชาการในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ รวมไปถึงการพัฒนาทักษะทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมอีกด้วย

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียนควรทำขั้นตอนดังนี้

  1. แก้ไขสาเหตุ
  2. แก้ไขปัญหาทางอารมณ์ที่พบร่วมด้วย
  3. สร้างแรงจูงใจ
  4. สร้างระเบียบวินัย
  5. ส่งเสริมประสิทธิภาพ
  6. สร้างจุดแข็ง

ในที่นี่ขอกล่าวถึงการช่วยเหลือแต่ละข้อดังนี้..

1. แก้ไขที่สาเหตุ

สิ่งสำคัญประการแรกในการช่วยเหลือลูกคือ คุณต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไรลูกจึงเรียนไม่ดี ในเด็กบางคนอาจมีสาเหตุเพียงประการเดียวแต่ในเด็กส่วนใหญ่การเรียนไม่ดีมักมาจากหลายสาเหตุ เช่น เด็กมีปัญหาสมาธิสั้นกับ LD ร่วมกัน หรือสาเหตุอาจเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ เช่น เด็กมีปัญหาสมาธิบกพร่อง การเรียนตกอยู่เรื่อยๆ และเกิดอารมณ์เศร้าตามมา ปัญหาทาง
อารมณ์ทำให้การเรียนที่แย่อยู่แล้ว (จากสมาธิบกพร่อง) ยิ่งแย่ลงไปอีก เป็นต้น การแก้ไขเพียงจุดเดียวมักไม่ทำให้เด็กดีขึ้น เช่น หากให้เด็กกินยาเพื่อเพิ่มสมาธิ แต่เด็กยังมีอารมณ์เศร้าอยู่ แรงจูงใจและสมาธิที่จะเรียนก็ไม่อาจจะดีขึ้นอย่างเต็มที่

สาเหตุบางอย่างอาจแก้ไขให้ดีขึ้นได้มาก แต่บางอย่างอาจดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น หากลูกมีปัญหาสติปัญญาบกพร่องและไม่มีสมาธิด้วย การกินยาอาจช่วยให้สมาธิดีขึ้น แต่ปัญหาสติปัญญานั้นคุณอาจช่วยได้เพียงเล็กน้อย การช่วยลูกที่มีสติปัญญาช้า ทำได้โดยกระตุ้นพัฒนาการ ให้เด็กมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น แต่คุณคงไม่สามารถเปลี่ยนค่าไอคิวที่เคยทดสอบได้ในระดับ 75 ไปเป็น 120 ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ไขได้ไม่มากนัก แต่คุณก็สามารถช่วยลูกให้ใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และทำให้ลูกมีความสุขในการเรียนมากขึ้นได้

2. แก้ไขปัญหาทางอารมณ์ที่พบร่วมด้วย

เด็กที่มีปัญหาการเรียนเป็นระยะเวลานาน มักมีปัญหาทางอารมณ์ร่วมด้วยเสมอ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่น หงุดหงิดง่าย ฯลฯ คุณจะต้องสังเกตว่าลูกมีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ หากมีก็ต้องแก้ไขตรงจุดนี้ด้วย เพราะการเรียนรู้ไม่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่หากเด็กไม่มีความสุข ในเด็กหลายคน เมื่อคุณพยายามช่วยอย่างจริงจัง เช่น ช่วยจัดตารางเวลา ช่วยคุมเรื่องการบ้านให้ทำได้ครบถ้วนและไม่ถูกครูดุ ฯลฯ เด็กจะรู้สึกดีขึ้นและความกังวลจะลดลง แต่ในเด็กอีกหลายคนปัญหาทางอารมณ์อาจรุนแรงและต้องปรึกษาแพทย์

คุณจะป้องกันไม่ให้ลูกเกิดปัญหาทางอารมณ์ได้โดยการพูดคุยกับลูกรับฟังเวลาลูกเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตน และพยายามเข้าใจถึงความจำกัดที่ลูกมี เช่น หากลูกพยายามแล้วยังได้คะแนนเลขไม่ดี คุณก็ต้องยอมรับว่าลูกไม่ถนัดคณิตศาสตร์ อย่าไปเคี่ยวเข็ญตำหนิลูก จนลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นคนล้มเหลว

การทำชีวิตในบ้านให้มีความสุขเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กมีอารมณ์ดี คุณควรทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส และระหว่าง พ่อ-แม่-ลูกเป็นไปอย่างดีด้วย เช่น มีเวลาทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน พูดคุยกันด้วยดี รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ชมลูกเมื่อเขาทำสิ่งที่ดี เป็นต้น บ้านที่มีความสุขจะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างเต็มความสามารถ


3. สร้างแรงจูงใจ

แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงมีเด็กหลายคนที่สอบได้คะแนนดีทุกครั้ง แต่พ่อแม่ก็เหนื่อยแสนเหนื่อย ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช คอยสั่งให้ท่องหนังสือและทำการบ้าน พูดง่ายๆ ก็คือ พ่อแม่ต้องกลายเป็นนักเรียนไปด้วย และคะแนนดีที่ได้นั้นเป็นฝีมือของพ่อแม่ไม่ใช่ของเด็ก
หากเด็กมีแรงจูงใจในการเรียน เด็กจะทำด้วยตัวของเขาเอง เขาจะเรียนด้วยความกระตือรือร้น ด้วยความสนุก และรู้ว่าการเรียนทำให้โลกของเขากว้างขึ้น ทำให้เขารู้อะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ ในเด็กที่มีแรงจูงใจแบบนั้นคุณไม่ต้องไปคอยสั่งเขาทุกย่างก้าว เพราะเขาจะวางแผนเอง และพยายามทำให้สำเร็จตามที่เขาตั้งใจ

4. สร้างระเบียบวินัย

ระเบียบวินัยที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จ คุณไม่สามารถทำให้ลูกเรียนดีโดยไม่สร้างระเบียบวินัยที่ดีควบคู่ไปด้วย เด็กฉลาดจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ทั้งนี้เพราะขาดความรับผิดชอบ ขาดความอดทน
เด็กหลายคนสอบได้ที่หนึ่ง แต่ชีวิตไม่ก้าวหน้าเพราะไม่มีระเบียบวินัย ไม่สามารถบังคับตนเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำและยับยั้งตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ คุณควรสร้างให้ลูกมีความอดทน ความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการจัดการตนเองและช่วยเหลือตนเองให้ได้ดีพอ

5. ส่งเสริมประสิทธิภาพของเด็ก

คุณควรส่งเสริมประสิทธิภาพของเด็กในสองด้านคือ

  • ประสิทธิภาพทั่วไป เช่น ความเป็นระเบียบในการงาน การจัดระบบรู้จักเก็บข้าวของเครื่องใช้ ทำอะไรได้รวดเร็ว ไม่อึดอาด รู้จักวางแผน-จัดลำดับสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง รู้จักแก้ปัญหา เป็นต้น
  • ประสิทธิภาพเกี่ยวกับการเรียน โดยสร้างนิสัยการเรียนและเทคนิคการเรียนที่ดี เช่น ช่วยให้ลูกอ่านคล่อง เขียนเก่ง คิดเลขได้เร็ว มีเทคนิคที่ดีในการเรียน รู้จักค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ไปห้องสมุด หรือสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตเป็นต้น

6. สร้างจุดแข็ง

การแก้ไขปัญหาการเรียนโดยแก้ที่สาเหตุเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอเราจำเป็นต้องเสริมสร้างเด็กในด้านอื่นด้วย เด็กที่มีปัญหาการเรียนมักมีความสงสัยตนเองซ่อนอยู่ลึกๆ เสมอ การค้นหาความสามารถด้านอื่นและเสริมสร้างให้เป็นจุดแข็ง จะช่วยสร้างความมั่นใจในตนเอง ทำให้เด็กรู้ว่าตนเองก็เป็นคนเก่งและสามารถทำอะไรได้เท่ากับเพื่อนๆ เช่นกัน จุดแข็งที่สร้างได้ไม่ยากคือ กีฬารวมทั้งการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร์อื่นๆ (กรุณาอ่านเพิ่มเติมในบทที่ 6 ความฉลาดหลากหลาย)

ทั้ง 6 ข้อนี้เป็นสิ่งที่คุณจะต้องทำให้ครบถ้วน หากคุณแก้ไขปัญหาและพัฒนาลูกในด้านต่างๆ ควบคู่ไปดังที่กล่าวนี้ การเรียนของลูกจะดีขึ้นอย่างแน่นอน และไม่เพียงจะดีขึ้นในระดับประถมหรือมัธยมเท่านั้น แต่จะดีขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยและในการเรียนรู้อื่นๆ ตลอดชีวิตด้วย

อ่านเทคนิคต่างเพิ่มเติมจากหนังสือ “ปัญหาการเรียนและเทคนิคช่วยให้ลูกเรียนดี”
เรียนทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี”

Similar Posts