ทำไมครูจุ๋มจึงทำร้ายเด็ก

โดยทั่วไปในการดูแลเคสเด็กถูกทำร้ายทารุณไม่ว่าจะทางกายหรือทางเพศก็ตาม สิ่งที่จิตแพทย์ต้องทำก็คือการตรวจประเมินเด็กผู้เป็นเหยื่อ (victim) และตรวจประเมินผู้ใหญ่ที่เป็นผู้กระทำ (perpetrator)
มีคนพูดถึงเด็กเยอะแล้ว วันนี้อาจารย์จะขอพูดถึงครูผู้กระทำบ้าง
คำถามที่เราจะต้องถามตัวเองในฐานะเป็นแพทย์ผู้ดูแลก็คือทำไมผู้กระทำจึงกระทำต่อเด็กแบบนี้?
อะไรคือแรงผลักดันหรือแรงจูงใจให้เกิดการกระทำเช่นนี้?
โดยทั่วไปคนเราทุกคนอยากจะเป็นคนดี เพียงแต่อาจมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งดีๆได้ อุปสรรคที่พบบ่อยเช่น การไม่มีแบบฉบับของการทำดี เลยนึกไม่ออกว่าควรจะทำอย่างไร (เช่นพ่อแม่ที่เลี้ยงดู ไม่ได้เลี้ยงดูด้วยความอ่อนโยน พอบุคคลนั้นโตขึ้นมาแล้วมีลูก เขาก็อ่อนโยนกับลูกไม่เป็น) หรือการมีความขัดแย้งหรือปมในใจที่ทำให้เกิดความรู้สึก ความคิด และตัวตนเชิงลบ เช่น อารมณ์เศร้า เครียด ความรู้สึกอิจฉา โกรธ อยากแก้แค้น และที่สำคัญคือโรคทางจิตเวช (มีหลายโรคที่ทำให้คนกระทำรุนแรงต่อผู้อื่น)
เมื่อดูวีดีโอที่ครูจุ๋มกระชากเด็กผลักเด็กแล้ว สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นก็คือเธอทำไปแบบหน้าตาเฉย ท่าทางนิ่งมาก เหมือนคนไร้ความรู้สึก
โดยทั่วไปแล้ว เคสผู้ใหญ่ที่ทำร้ายเด็ก มักจะทำร้ายในขณะที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ คือมีอารมณ์โกรธรุนแรงซึ่งอาจจะเนื่องมาจากเด็กมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกโกรธ รู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกไม่ไหวแล้ว ที่พบบ่อยๆก็คือเด็กสมาธิสั้นที่ซนมาก หรือมีสติปัญญาช้าและไม่สามารถทำสิ่งที่ผู้ใหญ่สั่งได้
แต่ในวิดีโอ ดูเด็กก็ไม่ได้มีพฤติกรรมดื้อซนอะไร
สีหน้าที่นิ่งมากของคุณจุ๋ม ทำให้นึกถึงกลไกบางอย่างที่น่าจะผลักดันให้ทำร้ายเด็ก ดังนี้
กลไกผลักดันให้ทำร้ายเด็ก
1. การขาด empathy
หรือความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น อันนี้เป็นลักษณะสำคัญมากของโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคม (antisocial personality disorder) รวมทั้งบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder- แต่คนที่หลงตัวเองลึกๆแล้วมักขาดความภาคภูมิใจในตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ แต่ภายนอกแสดงออกมาเป็นการหลงตัวเอง)
2. numbing
คือการไม่รู้สึกรู้สม ทำเหมือนอารมณ์ “ตาย” ปราศจากอารมณ์ คนที่เป็นแบบนี้มักมีความเจ็บปวดในจิตใจ รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย และรู้สึกตนเปราะบาง จึงใช้กลไกการอยู่รอด (coping mechanism) แบบ ตัดความรู้สึกออกไป เพื่อที่จะได้ไม่เจ็บปวด เพราะถ้าปล่อยให้ตนเองรับรู้ความรู้สึก ตนเองก็จะเจ็บปวดเปราะบางและอยู่ไม่ได้ แต่โชคร้ายที่เขาใช้กลไกแบบนี้บ่อยเกินไปจนเป็นนิสัย จึงทำให้เขาไม่รับรู้ความรู้สึกของตัวเองและของคนอื่น ในสถานการณ์อื่นที่ไม่ได้น่ากลัวหรือเป็นอันตรายสำหรับเขาด้วย พูดง่ายๆก็คือเขากลายเป็นคนไร้อารมณ์ เป็นคนใจหินไปเลย
3 ความรู้สึกอิจฉา
ผู้ใหญ่บางคนเติบโตขึ้นมาในสภาพที่แร้นแค้นหรือถูกทอดทิ้ง ปราศจากผู้ดูแลที่ให้ความอบอุ่น เมื่อมาเห็นเด็กที่ได้รับการดูแลอย่างดีก็เกิดความรู้สึกอิจฉา โลกนี้ไม่ยุติธรรม ทำไมตอนเป็นเด็กฉันไม่ได้แบบนี้บ้าง? (ไม่มีเสื้อสวย ไม่มีรถเก๋งมาส่ง ไม่มีพ่อแม่อุ้มกอดฯลฯ) ทำให้ แสดงพฤติกรรมเพิกเฉย ไม่สนใจ และแรงสุดก็คือทำร้ายเด็ก สะใจที่เด็กเจ็บปวด
อาจารย์คิดว่า ข้อ 3 มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่หากจะให้ถูกต้องแม่นยำ ก็จะต้องอาศัยการตรวจสภาพจิต และทำความรู้จัก โลกภายในหรือภูเขาน้ำแข็ง (iceberg- คนที่อ่านหนังสือ “สร้างชีวิตใหม่” คงจะเข้าใจคำนี้) ของครูจุ๋มอีกสักนิด
อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะบอกคือ ผู้กระทำก็ต้องการการบำบัดเยียวยาเช่นกัน พูดง่ายๆก็คือ ผู้กระทำก็เป็นคนป่วย หากได้รับการบำบัดรักษาที่ดี ก็คงเกิดความเข้าใจตนเองและสามารถแก้ปมในใจ ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น และไม่ไปทำร้ายใครอีก
ขอให้กำลังใจครูทุกคนที่เคยกระทำรุนแรงต่อเด็ก ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เรื่องตามกฏหมายก็ว่าไปตามขั้นตอน ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตให้ดี คนเราย่อมเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
แต่ที่แย่มากๆ และควรจัดการจริงจังก็คือ การที่ผู้บริหารของโรงเรียนไม่สอดส่องดูแล แต่กลับปล่อยปละละเลย ถ้าบ้านเรามีการควบคุม ตรวจสอบ ดูแลในเรื่องมาตรฐานของสถานศึกษา โดยเฉพาะของเด็กเล็กให้ดีกว่านี้ ปัญหาแบบนี้คงไม่เกิดขึ้น
เออ! ไม่รู้ต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆหรือเปล่า!