ปัญหาพิเศษ สมาธิสั้น ออทิสติก พัฒนาการช้า ฯลฯ | บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก

ทำไมลูกจึงไม่มีสมาธิ?

ไม่มีสมาธิ

คุณแม่พานัทวัย 10 ปีมาหาหมอ เพราะเทอมนี้การเรียนตกมาก
และคุณครูว่านัทไม่มีสมาธิในการเรียนเลย..

หมอ : ครูว่าหนูใจลอยบ่อยๆ เวลาเรียนหนังสือต้องคอยเตือนอยู่เรื่อย
นัท : ใช่ครับ ครูเตือนทีไรผมสะดุ้งโหยงเลย หมอ : แล้วใจลอยคิดถึงเรื่องอะไร ? นัท : คิดถึงแม่ครับ
หมอ : ทำไมต้องคิดถึงแม่ กลับจากโรงเรียนก็เจอแม่ทุกวันไม่ใช่หรือ ?
นัท : ก็รักแม่ กลัวว่าแม่จะไม่สบาย
หมอ : กลัวแม่จะเป็นอะไร ?
นัท : ก็แม่เป็นโรคหัวใจ หมอบอกว่าต้องระวัง
หมอ: อ๋อ ! นัทเลยกังวลเรื่องแม่มากเลยใช่ไหม ? อยู่ที่โรงเรียนก็คงเรียนไม่รู้เรื่องล่ะซิ
นัท: ก็ฟังครูไม่ทัน ใจมันไม่สบาย
หมอ: นัทว่าทำอย่างไรนัทถึงจะสบายใจล่ะจ๊ะ ?
นัท: ก็ต้องกลับบ้านไปอยู่กับแม่ จะได้แน่ใจว่าแม่สบายดี*


นัทไม่มีสมาธิเพราะมีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของแม่ หมอนัดพบอีก 3 ครั้งเพื่อพูดคุยกันถึงความกังวล ให้นัทได้ระบายความรู้สึกดังกล่าว และแนะนำแม่ว่าอย่าพูดเรื่องสุขภาพให้ลูกฟัง เพราะลูกยังเล็ก วิธีการปรับตัวหรือจัดการกับความเครียดยังไม่ดีพอ และจะเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวแม่มากเกินไป ภายในหนึ่งเดือนนัทก็หายกังวลและกลับมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ

คุณอาจสงสัยว่าทำไมลูกของคุณจึงไม่มีสมาธิ?

สาเหตุของการไม่มีสมาธิมีหลายประการ ที่พบบ่อยและควรนึกถึงเป็นอันดับแรกได้แก่

  • สภาพร่างกายที่ไม่สบายเพียงพอ เช่น กำลังเป็นไข้ หรืออ่อนเพลียเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ขาดสารอาหาร หิวน้ำ รู้สึกร้อนหรือหนาวเกินไป
  • ภาวะที่มีสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เช่น สถานที่วุ่นวาย ที่มีเสียงดังหรือผู้คนจอแจจะทำให้เราไม่มีสมาธิได้ เพราะแม้จะพยายามจดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว แต่สิ่งกระตุ้นอื่นๆ ก็มากเกินไปจนทำให้วอกแวก นอกจากนี้สิ่งกระตุ้นที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะสมองล้า ตั้งสมาธิไม่ได้นาน
  • สภาพอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น โกรธ หงุดหงิด วิตกกังวลหรือเศร้า ก็ทำให้สมาธิไม่ดี ทั้งนี้เพราะสมองที่ควบคุมอารมณ์นั้นทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนที่ควบคุมสมาธิ เด็กบางคนสติปัญญาดี เคยเรียนได้เกรดสี่มาตลอด แต่พอมีอารมณ์เศร้าการเรียนอาจตกลงจนเหลือเกรดหนึ่งก็ได้ เด็กบางคนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับพ่อแม่จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ ดังเช่นกรณีของนัทในหน้า 5
  • โรคบางชนิด เช่น โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมาก
    มีการเคลื่อนไหวมาก อยู่ไม่นิ่งและมีสมาธิวอกแวกได้
  • ยาหรือสารบางอย่าง เช่น ยาขยายหลอดลม หรือยาลดน้ำมูกบางชนิด อาจกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ
    และทำให้สมาธิวอกแวก ซนอยู่ไม่นิ่งได้ถ้าได้รับมากเกินขนาด ยากันชัก เช่น phenobarbital
    อาจทำให้เด็กบางคนอยู่ไม่นิ่ง สารเสพติดบางอย่างก็ทำให้ใจลอยและไม่มีสมาธิได้เช่นกัน
  • ปัญหาทางสมอง  เช่น  สมองเคยได้รับความกระทบกระเทือนเนื่องจากอุบัติเหตุหรือมีโรคติดเชื้อ 
    ในระยะต่อมาเมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวขึ้นแล้วอาจมีอาการสมาธิไม่ดี  วอกแวก  และซนอยู่ไม่นิ่ง
  • การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่มีระเบียบวินัย การเลี้ยงดูที่ปล่อยให้เด็กทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ไม่เคยฝึกให้อดทนและนั่งทำงานจนเสร็จ ไม่เคยฝึกการรอคอยหรือฝึกระเบียบวินัย ก็ทำให้เด็กควบคุมตนเองไม่ได้
    มีลักษณะอยู่ไม่นิ่งและไม่มีสมาธิได้
  • สภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เช่น ห้องที่มีของเล่นมากไป การเปิดโทรทัศน์ทั้งวัน เปิดวิทยุเสียงดัง หรือสภาพบ้านที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย มีคนอยู่แออัด ส่งเสียงดัง ไม่มีเวลาสงบเลยก็อาจทำให้เด็กเกิดการตื่นตัวมากเกินไปและตั้งสมาธิไม่ได้
  • โรคสมาธิบกพร่อง สาเหตุที่สำคัญมากที่ทำให้เด็กไม่มีสมาธิก็คือ โรคสมาธิบกพร่อง
    ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในตอนต่อไป
จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ในเด็กคนหนึ่งๆ อาจไม่มีสมาธิ

เนื่องมาจากสาเหตุหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นในการช่วยเหลือให้เด็กมีสมาธิดีขึ้นนั้น เราจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง และพยายามแก้ไขสาเหตุต่างๆให้ได้มากที่สุด

ในเด็กจำนวนมากภาวะไม่มีสมาธิสามารถแก้ได้ไม่ยาก เช่น หากจัดสภาพแวดล้อมให้ดี ไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งกระตุ้นมากเกินไป (ไม่ให้มีของเล่นมาก ไม่เปิดทีวีอยู่ตลอดวัน หรือพาไปศูนย์การค้าบ่อยๆ) และฝึกระเบียบวินัยให้ดี ให้รู้จักควบคุมตนเองและรู้จักอดทน เด็กก็มักจะมีสมาธิดีขึ้น แต่หากพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้วยังไม่ได้ผลก็ควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการบำบัดรักษาเป็นพิเศษ เช่น โรคทางกายหรือโรคสมาธิบกพร่อง เป็นต้น

แนะนำ หนังสือสร้างสมาธิให้ลูกคุณ และ หลักสูตรออนไลน์ดูแลลูกสมาธิสั้น

Similar Posts