บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก | บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น

มาเป็น mentor ที่ปรึกษา พี่เลี้ยง ให้กับลูกคุณดีกว่า

พี่เลี้ยง-mentor

ขึ้นไปกรุงเทพฯครั้งนี้ได้พบคนไข้เก่าหลายคนที่เคยดูตั้งแต่เล็ก ตอนนี้หลายคนกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เริ่มต้นสมัครงานบ้าง เปลี่ยนงานใหม่บ้าง บางคนกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง อันที่จริง หลายคนหายดีแล้วไม่จำเป็นจะต้องมาพบอาจารย์อีก แต่ก็ยังอุตส่าห์มา บางทีอาจารย์ก็ไม่อยากนัดต่อ แต่คนไข้ไม่เคยบอกเลิก ขอมาพบเรื่อยๆ

มีหนุ่มคนหนึ่ง เวลามาตามนัด ก็จะเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านไป 3-4 เดือน เหมือนมาอัพเดตชีวิตว่าเป็นอย่างไร ช่วง covid นี้ไม่ตกงาน แต่ก็อยากมีธุรกิจเสริม คิดไปคิดมาก็ไม่ค่อยมั่นใจ มีความรู้สึกขัดแย้งในใจ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จะทำนี้ถูกหรือผิด และควรจะบอกผู้ใหญ่ในครอบครัวมากน้อยแค่ไหน ปัญหาที่คิดไม่ตกด้วยตัวเองก็เพราะว่าบางเรื่องไม่มีผิดไม่มีถูกในตัวของมัน มีแต่ควรหรือไม่ควร และถ้าควร จะทำวิธีไหนจึงจะไม่เกิดปัญหา หรือความรู้สึกแย่ขึ้นกับใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง

หลายคำถามในชีวิตเป็นประเด็นเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าควรจะไปซ้ายหรือขวา เกี่ยวกับความสัมพันธ์ว่าจะรักษาไว้อย่างไรแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ทำอย่างไรจึงจะยังคงความเป็นตัวของตัวเอง ให้เกียรติตัวเองพอๆกับที่ให้เกียรติคนอื่น รักษาผลประโยชน์ของตัวเองโดยที่ไม่เอาเปรียบคนอื่น

รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสทำงานเชิง mentor เป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง

อาจารย์ คุยกับหนุ่มคนนี้ถึงสิ่งที่เรียกว่า integrity ซึ่งเป็นคำที่อธิบายยาก แต่รวมๆก็คือความสัตย์ซื่อ คิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่หลอกลวง คุณลักษณะนี้หายากยิ่งในปัจจุบัน

รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสทำงานเชิง mentor เป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง (แทนที่จะตรวจแต่โรคและให้ยา) ให้มุมมอง ค่านิยมที่ถูกที่ควร รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตแก่คนที่อ่อนเยาว์กว่า

จริงๆ แล้ว mentor นี้เป็นงานสำคัญของพ่อแม่ที่ลูกกำลังโตเป็นผู้ใหญ่ แต่พ่อแม่หลายคนทำไม่ได้ สาเหตุเป็นเพราะพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะตัดสินลูก และมักจะตัดสินในเชิงลบ

ในการฝึกอบรมเป็นจิตแพทย์หรือผู้บำบัดนั้น สิ่งที่ครูสอนมาก็คือเราจะต้องมีทัศนคติที่ไม่ตัดสินหรือ nonjudgemental attitude เพราะการไม่ตัดสิน จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกล้าเปิดเผยตัวเอง ไม่เสแสร้งหรือปิดบังหรือพยายามสร้างภาพบวก

ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า หากลูกทำไม่ดี แล้วเราบอกลูกไม่ได้

แต่หมายความว่า เราไม่ควรตัดสิน “ตัวตน” ของลูกว่าเป็นคนดีหรือเลว หรือตัดสินการกระทำว่า ผิดหรือถูก ไปก่อน สิ่งที่ควรทำคือ ทำความเข้าใจในการกระทำนั้นให้ถ่องแท้ว่าทำไปโดยมีแรงจูงใจอะไร และทำความเข้าใจ ถึงที่มาที่ไปของการกระทำและการตัดสินใจของลูก

การสำนึกหรือค้นพบว่า “ฉันผิด” จะได้ผลดีกว่า หากเป็นการสำนึกหรือค้นพบด้วยตนเอง เพราะมันจะนำไปสูการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว่า การที่รู้ว่า “ฉันผิด” เพราะคนอื่นบอก

เทคนิคที่พ่อแม่ควรทำ

เทคนิคที่พ่อแม่ควรทำคือ ค่อยๆคุย ค่อยๆชวนลูกให้วิเคราะห์การตัดสินใจของตัวเองว่าจะเกิดผลตามมาอย่างไร ผลลัพธ์นี้มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ลูกอยากเลือกวิธีไหน เพราะอะไร หลังจากฟังลูกและเข้าใจลูกดีพอแล้ว จึงค่อยแชร์ความคิดของคุณ

ด้วยวิธีการนี้พ่อแม่จะสามารถที่จะเป็นที่ปรึกษาหรือ mentor ของลูก ได้อย่างดี แถมไม่ต้องเสียตังค์อีกด้วย เพราะค่าตรวจของจิตแพทย์น่ะ ไม่ถูกนะจ๊ะ

ราคาแพงพอๆกับชีสเค้กหน้าไหม้ หรือโชกุปังที่คนขายทางออนไลน์เลยล่ะ55 (พูดแล้วอยากกินขึ้นมาทันที!)

ใครอยากเลี้ยงลูกให้ดีด้วยเทคนิคที่ทำได้จริง แนะนำเรียนคอร์สออนไลน์ เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี
และอ่านหนังสือ เซตสร้างลูก เพื่อนำไปใช้ควบคู่กันนะคะ

Similar Posts