ปัญหาพิเศษ สมาธิสั้น ออทิสติก พัฒนาการช้า ฯลฯ

น่าเสียดาย

น่าเสียดาย

หลายครั้งเวลาเจอวัยรุ่นที่พ่อแม่พามาปรึกษา ก็เกิดความรู้สึกเสียดาย….

เด็กหนุ่มอายุ 19 ปีกำลังจะถูกรีไทร์เป็นครั้งที่ 2 จากคณะวิศวะ พ่อหนุ่มมี GPA ไม่ถึง 2 เพราะติดเกมงอมแงม ไม่เข้าเรียน ไม่ไปสอบ เป็นคนหัวดีมาก ถูกรีไทร์ครั้งแรก ก็สอบเข้าได้อีก เพื่อจะถูกรีไทร์ครั้งที่สอง น่าเสียดาย….

ชายหนุ่มอายุ 25 ติดพนันบอลเสียเงินเป็นแสน จากการประเมินพบว่า ขาดความเชื่อมั่นมาก รู้สึกตัวเองทำอะไรดีไม่ได้ การเรียนก็แย่ สู้น้องๆ ไม่ได้ และมีอารมณ์เศร้า พอไปเล่นพนันบอลตอนแรกก็ได้เงินมานิดหน่อย ก็รู้สึกดี (อาจเป็นความภาคภูมิใจครั้งแรก!!!)

ตอนหลังเสียเงิน แต่ก็ยังเล่นต่อด้วยความหวังว่าจะทำกำไรคืนได้บ้าง ถามพ่อแม่ว่าเคยพาลูกไปปรึกษาแพทย์เรื่องปัญหาการเรียนไหม? พ่อแม่ตอบว่า ก็แค่คะแนนเฉียด 2 เท่านั้นแหละ ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาอะไร

“บ้านเราไม่ได้สนใจเรื่องเรียนเท่าไหร่ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” ทัศนคติแบบนี้เป็นเหมือนซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม

น่าเสียดาย….

อีกรายหนึ่งเพิ่งลาออกมาจากคณะแพทย์เพราะรู้สึกว่าเรียนยากมาก จดงานไม่ทัน เวลาสอบก็อ่านหนังสือไม่ไหว แต่พอไปสอบเข้าคณะอื่น เรียนไปได้สักพักก็รู้สึกว่า “ไม่ใช่ฉัน” รู้สึกเสียดายโอกาสที่หลุดลอยไปแล้ว ไม่น่าด่วนตัดสินใจลาออกเลย เสียดาย….

อาจารย์เองในฐานะแพทย์ที่ตรวจ ก็แค่ “เสียดาย” แต่พ่อแม่นั้น เดาว่า ลึกๆแล้ว “เสียใจ”ยิ่ง

ทั้งสามรายนี้ จากการตรวจประเมินแล้วพบว่าเป็น

โรคสมาธิสั้น

แต่ไม่เคยได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผลลัพธ์ก็คือ การเรียนไม่ดี รู้สึกตัวเองแย่ ขาดความเชื่อมั่น ขาดแรงจูงใจ

อาการสมาธิสั้นก็ทำให้เบื่อง่ายและอยากทำอะไรที่ตื่นเต้นกว่า เช่น เล่นเกม เล่นพนัน

จริงๆแล้วการเป็นโรคสมาธิสั้น น่ะไม่ใช่ปัญหา หากได้รับการดูแลที่เหมาะสม ปัญหาอยู่ที่ พ่อแม่ไม่รู้ว่าเด็กเป็น หรือรู้แล้วว่าเป็น แต่ก็ดูแลลูกไม่ถูกวิธี เด็กจึงพัฒนาเติบโตไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ

ขอบอกตรงนี้ว่า ถ้าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ลูกสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่และมีชีวิตที่ดีได้แน่ หากพ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างถูกวิธี

ให้ศึกษาหลักสูตรออนไลน์ ดูแลลูกสมาธิสั้น

Similar Posts