ปัญหาความรุนแรงในสังคม

เดี๋ยวนี้บ้านเมืองเราอยู่ยากขึ้นเยอะ มีแต่ข่าวความรุนแรงก้าวร้าวของผู้คน
แต่ที่น่าตกใจมากก็คือความรุนแรงที่กระทำโดยวัยรุ่น ที่สดๆร้อนๆคือ การฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นโดยกลุ่มโจ๋พัทลุง
หลายปีมาแล้ว กรมสุขภาพจิตได้ขอให้อาจารย์ทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงในวัยรุ่นและสรุปเป็นรายงานพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา (สามารถอ่านได้จากเวปไซต์ของอาจารย์ค่ะ) ในการทบทวนองค์ความรู้ครั้งนี้อาจารย์ได้ค้นคว้างานวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความรุนแรงและอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองไทย นึกๆดูแล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเยาวชนหลายปีก่อนนั้นไม่อาจจะเทียบเท่าในปัจจุบันได้เลย
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคม
เมื่อวิเคราะห์ข่าวโจ๋พัทลุงแล้ว คิดว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็นก็คือ ภาพความรุนแรงที่ได้เรียนรู้และการอยู่กันเป็นแก๊ง
- อยากชวนให้พ่อแม่ชะเง้อดูเกมที่ลูกเล่นสักนิดแล้วจะตกใจ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฉากฆ่ากันจึงทำได้เหมือนจริงมาก เห็นวิธีบั่นคอ คว้านท้อง เลือดทะลัก ตาถลน เหยื่อครางอย่างเจ็บปวด และเนื่องจากมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง เด็กจึงรู้สึกสนุก และความสนุกก็เลยกลายเป็นปฏิกิริยาตอบสนองในสถานการณ์จริงไปด้วย นอกจากนี้ความน่ากลัวหากได้พบเห็นบ่อยๆ ทำให้เกิดกระบวนการ desensitization สมองเกิดความเคยชินและรู้สึกว่า มัน “ธรรมดา” จึงไม่น่าแปลกใจที่เดี๋ยวนี้อาชญากรวัยรุ่นจึงสามารถค้นหาวิธี torture หรือทำให้เหยื่อทุกข์ทรมานได้อย่างโหดเหี้ยม และยังคงยิ้มเห็นฟันขาวเมื่อเล่าถึงสิ่งที่ตนทำกับเหยื่อ
- คิดว่าสำคัญมาก ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า การฆ่าอย่างเลือดเย็นมักจะเกิดขึ้นไม่ใช่จากวัยรุ่นคนเดียว แต่เกิดจากหลายคนร่วมกันทำ เหมือนอย่างในกรณีของโจ๋พัทลุงนี่แหละ (ในสหรัฐอเมริกา 75% ของอาชญากรรมรุนแรงโดยวัยรุ่น ทำเป็นแก๊ง) หากทำอย่างเลือดเย็นตามลำพังคนเดียวก็ต้องสงสัยว่าฆาตกรรายนี้น่าจะเป็นโรคจิตหรือมีบุคลิกภาพผิดปกติ แต่ถ้าทำเป็นกลุ่ม แม้จิตปกติดีก็สามารถทำได้ เพราะอะไร? เดี๋ยวจะเฉลยค่ะ
- เราต้องเข้าใจก่อนว่า วัยรุ่นต้องการการยอมรับ และในช่วงวัยรุ่นนี้เอง เด็กต้องเริ่มแยกห่างจากครอบครัว เพื่อที่จะเริ่มพึ่งตัวเองให้มากขึ้น ลักษณะนี้ถือเป็นกระบวนการพัฒนาปกติ การมาอยู่เป็นกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกลุ่มให้ความอบอุ่น ให้การปกป้องและเป็นที่พักพิงแทนครอบครัว
สิ่งที่น่ากลัวเกี่ยวกับกลุ่มก็คือ สามารถรวมกันทำสิ่งผิดกฏหมาย กลายเป็นแก๊งไปเลย!
และสิ่งที่น่ากลัวเกี่ยวกับแก๊งก็คือ ลักษณะที่เราเรียกว่า diffusion of responsibility หรือการกระจายความรับผิดชอบ กล่าวคือเมื่อแก๊งทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป สมาชิกแก๊งจะเฉลี่ยกันรับผิดชอบ ดังนั้นจึงไม่ใช่ความผิดของฉันคนเดียว หรือ “ฉันก็ไม่ได้ผิดมาก” (ยิ่งกลุ่มใหญ่มาก ตัวหารจะเยอะ) ลักษณะนี้ทำให้เมื่ออยู่เป็นแก๊ง วัยรุ่นจะกล้าทำอะไรที่รุนแรงกว่าตอนอยู่ตามลำพัง
ในสหรัฐอเมริกา แก๊งวัยรุ่นเป็นปัญหาสังคมอย่างมาก เพราะก่ออาชญากรรมแทบทุกรูปแบบ ถึงกับมีการตั้ง National Gang Center และ National Gang Crime Research Center เพื่อศึกษาและเฝ้าระวังปัญหานี้
แก๊งจะมีอิทธิพลมากถ้าวัยรุ่นนั้นมีปัญหาครอบครัว
เราคงห้ามการรวมกลุ่มไม่ได้ แต่เราต้องพยายามห้ามการเปลี่ยนจากกลุ่ม กลายเป็นแก๊ง
ตอนนี้ที่คิดออกมี 2 วิธี
1. ทำครอบครัวให้อบอุ่น ลูกจะได้ไม่ต้องไปหาความอบอุ่นจากแก๊ง
2. ทำให้วัยรุ่นได้รับการยอมรับในเชิงบวก โดยหาเวทีให้วัยรุ่นแสดงออกอย่างเหมาะสม ข้อนี้สังคมไทยมีน้อยเกินไป
ส่วนใหญ่มีแต่เวทีร้องเพลง ประกวดเต้นหางเครื่อง ซึ่งสร้างสรรค์ไม่มากพอ
ใครนึกวิธีไหนออก ก็เล่าสู่กันฟังหน่อยนะคะ
ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ปั้นสังคมใหม่ เพื่อไทยทุกคน
โอ! พิมพ์โพสต์อยู่ดีๆ กลายเป็น motto ไปเสียแล้ว……
ปล. อาจารย์เห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์ กับการเปลี่ยนกฏหมาย หากวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี ก่ออาชญากรรมรุนแรง ควรพิจารณาคดีแบบผู้ใหญ่ ประเทศอินเดียก็มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายแล้ว ไทยเราอย่ารอช้าเลย…..
แนะนำอ่านหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” และเรียนหลักสูตรออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี”