บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก | บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น

พฤติกรรมเด็กก้าวร้าว ถูกครอบครัวทำร้าย ทำยังไงดี?

เด็กก้าวร้าว

คุณครูห่วงใยนักเรียน เขียนมาถามว่านักเรียนเป็นเด็กก้าวร้าวแบบนี้จะอย่างไร?
ก้าวร้าว อยู่ที่บ้านถูกพ่อทำร้าย นักเรียนเล่าว่าอยากทำร้ายพ่อกลับ…

ขออนุญาตเอาคำพูดของคุณครูแปะไว้ จะได้อ่านกันชัดๆ

ขออนุญาตคุณครูท่านนั้นแล้วค่ะ

อ่านแล้วนึกถึงละครเรื่อง “ข้ามสีทันดร” ตัวเอกที่ชื่อดวลซึ่งติดยาเสพติดก็มีชีวิตแบบนี้แหละ คือมีพ่อที่ชอบระเบิดอารมณ์ มองไม่เห็นจุดดีของลูก ลูกทำดีไม่ชม ลูกทำไม่ดีด่าเสียยกใหญ่ ทั้งทำร้ายร่างกายด้วย

เด็กที่เติบโตมาในสถานการณ์แบบนี้มักจะ

  1. รู้สึกว่าตัวเองติดกับ จนตรอก จะหนีก็ไม่ได้ จะอยู่ก็ถูกทำร้าย เหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือ จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด
  2. รู้สึกตนเองไร้คุณค่า ก็ขนาดพ่อแม่ของตัวเองยังไม่เห็นคุณค่าเลย
  3. ลึกๆแล้วจะมีอารมณ์เศร้า บางคนมีอาการซึมเศร้าตรงๆ แต่บางคนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกเศร้าซึม
  4. เด็กอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพราะเลียนแบบ ไม่เคยเห็นวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่นนอกจากวิธีรุนแรง ไม่เคยเห็นตัวอย่างของการประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัยและยกโทษให้กัน
  5. เมื่อโตขึ้น มีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย ทำร้ายผู้อื่น ใช้สารเสพติด ใช้แอลกอฮอล์ และเป็นโรคซึมเศร้า และอาจอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

แล้วความคิดที่จะทำร้ายพ่อล่ะ?

ใครจะไปรู้ วันหนึ่งอาจจะทำจริงเมื่อถูกกดดันมากๆ แต่เชื่อไหมว่าเพียงแค่คิดอยู่ในใจ เด็กพวกนี้ก็จะรู้สึกผิดอย่างมากขอเดาว่า แม่อาจจะถูกทำร้ายด้วย และปกป้องลูกไม่ได้

ขอแนะนำคุณครูดังนี้..

  1. เชิญพ่อแม่มาที่โรงเรียนเลย(หลังโควิด) แล้วคุยอย่างจริงจัง บอกว่าเป็นห่วงนักเรียน แต่ต้องระวังสักนิดเพราะพ่อแม่แบบนี้จะระแวงว่าคนอื่นจะหาว่าตนเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี
  2. ในต่างประเทศ เคสแบบนี้จะต้องรายงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในเมืองไทยอาจแจ้งหน่วยงาน เช่น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น
  3. คุณครูจะต้องทำหน้าที่พิเศษ คือเป็น life line (หรือเส้นเชือกที่ช่วยชีวิต)ให้เด็ก
    นึกถึงสายเชือกที่นำทางเราออกจากถ้ำอันมืดมิด หรือเส้นเชือกที่คนโยนไปให้เราจับตอนเรากำลังจมน้ำ

การวิจัยพบว่าในชีวิตของเด็กคนหนึ่งๆ ถ้าจะเติบโตไปได้ดีอย่างน้อยขอให้มีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ไว้วางใจได้ ที่อยู่ตรงนั้นเพื่อเขา ไม่ทอดทิ้งเขาให้โดดเดี่ยว ถ้าพ่อแม่ทำหน้าที่นี้ไม่ได้ก็อาจจะเป็นผู้ใหญ่คนอื่นที่เขาพบเจอในชีวิต เช่น ครู แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ญาติสักคนหรือเพื่อนบ้านที่ห่วงใย

👩🏻 คุณครูต้องแสดงความห่วงใยเอาใจใส่ตามสมควร ให้เด็กรู้สึกว่ายังมีที่พึ่ง ยังมีคนที่แคร์เขา มันจะทำให้เด็กมีความหวัง

เด็กจะรู้ว่า แม้วันนี้ฟ้าจะมืดมิด แต่ถ้าเขาค่อยๆเดินไปให้ดี จะมีวันที่ฟ้าสว่างแน่นอน

สู้ๆนะคะคุณครู อาจารย์เอาใจช่วยค่ะ ❤️

แนะนำคุณครูให้อ่าน “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” “สร้าง EQ ให้ลูกคุณ” ด้วยนะคะ
อ่านเทคนิคต่างๆและนำปรับใช้กับเด็กๆที่โรงเรียนได้ดีเยี่ยมเลย ครูจะได้เหนื่อยน้อยลงด้วยนะ! 😊

สำหรับคุณพ่อคุณแม่แนะนำ บทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี”

Similar Posts