ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้ลูก?

วันก่อนได้พบผู้หญิงอายุ 40 ปี เธอมาปรึกษาเพราะรู้สึกเศร้ามาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่แยกทางกับสามี เศร้า ทั้งๆที่เป็นฝ่ายขอแยกทางเอง
“มันก็สบายใจนะที่ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องมาปรนนิบัติดูแลคนที่ไม่เห็นคุณค่าของเรา แต่ทำไมยังเศร้าอยู่ ?”
ฟังเรื่องที่เธอเล่าสักพักก็รู้ว่า
ความเศร้านั้น แท้ที่จริงคือความเหงา
ความเหงานี้เริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยมาก หลังจากพ่อแยกทางไป บ้านก็มีแต่ความเงียบ ไม่มีทั้งเสียงทะเลาะและเสียงหัวเราะ
เพราะไม่มีผู้ชายสักคนที่บ้าน แม่จึงกลายเป็นคนขี้กลัว ต้องนอนเปิดไฟเสมอ
แม่ขี้เหงาด้วย ไม่ค่อยยอมให้เธอคลาดสายตา จะคอยเรียกหาเสมอ
ครั้งที่ 2 ที่พบกัน อาจารย์เริ่มทำจิตบำบัด โดยชวนเธอมองเข้าไปในตัวเองและตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
“ดูเหมือนความเหงาจะเป็นมรดกตกทอดจากคุณแม่ ….แต่เราไม่จำเป็นต้องเก็บทุกอย่างที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้นะคะ ถ้าเป็นสิ่งดีก็ควรเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่บั่นทอนชีวิต ก็จงทิ้งมันไป…..”
เราคุยกันอีกพักใหญ่ อาจารย์ช่วยเธอจัดการ “ทิ้ง” มรดกชิ้นนี้ สักพักเธอก็เดินออกจากห้องไปด้วยรอยยิ้ม
ในชีวิตแต่ละวันที่ใช้ร่วมกัน คุณกำลังทิ้งมรดกอะไรไว้ให้ลูก?
คุณกำลังส่งต่อสิ่งที่เสริมสร้างหรือสิ่งที่บั่นทอนชีวิต?
น่าจะลองทบทวนดูนะคะ
(ปล. หากใครอยากส่งต่อ “มรดกแห่งความสุข – ความสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข” ให้ลูก ก็ขอชวนมาร่วมในการสัมมนา “เลี้ยงลูกให้สุขเป็น” ในวันที่ 16 ก.ค. สมัครได้ตามลิงค์นี้ค่ะ
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรสร้างสุขในขีวิต เข้าใจตนเอง