บทความสำหรับครอบครัว

รอยร้าวในครอบครัว

รอยร้าวในครอบครัว

#แฮร์รี่และเมแกน #รอยร้าวในครอบครัว

อ่านข่าวเจ้าชายแฮรี่และเมแกนให้สัมภาษณ์แล้ว ทำให้นึกถึง คำว่า family rift
rift แปลว่ารอยแตก รอยแยก พูดให้ไพเราะว่ารอยร้าวจะดีกว่า

รอยร้าวในครอบครัว ทำให้เรากลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน เกิดสงครามเย็น และในที่สุดก็เกิดการตัดขาดจากกัน (cut off) ความสัมพันธ์ที่น่าจะเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกันจบสิ้นลง

รอยร้าวในครอบครัว

ครอบครัวจำนวนมากมีรอยร้าว เหมือนจานชามที่ใช้บ่อยๆย่อมมีรอยร้าวเป็นธรรมดา จานชามที่ไม่มีรอยร้าวแปลว่าต้องนานๆใช้ที (แต่ชีวิตครอบครัวนั้นเรา “ใช้” มันทุกลมหายใจ) หรือไม่ก็ต้องใช้อย่างทะนุถนอม ต้องเกร็งไม้เกร็งมือ (ในชีวิตจริงใครจะเกร็งอยู่ได้ตลอดเวลา..จริงไหม?)

การสำรวจในต่างประเทศพบว่า

รอยร้าวและการตัดขาดพบได้บ่อย ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาในอังกฤษโดย Center for Family Research มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 2015 ในกลุ่มตัวอย่าง 800 กว่าคนที่มีประสบการณ์ตัดขาดจากครอบครัวพบว่าในการตัดขาดระหว่างพ่อแม่กับลูกนั้น จะเกิดกับลูกสาวบ่อยกว่าลูกชาย ในกรณีของลูกสาว ระยะเวลาที่ตัดขาดจะสั้นกว่า และโอกาสคืนดีกันจะมีสูงกว่า แต่ถ้าเป็นลูกชายแล้วก็มักนานกว่าจะคืนดีกัน นักวิจัยอธิบายว่าเพราะเวลาเกิดปัญหาความสัมพันธ์ ผู้ชายมักใช้วิธีถอยหนี ไม่เข้ามาหาหรือมาซ่อมแซมความสัมพันธ์อย่างผู้หญิง

ส่วนใหญ่แล้วลูกเป็นฝ่ายตัดขาด (ข้อมูลนี้น่าเศร้าจัง!) ทั้งนี้เพราะความผูกพันที่พ่อแม่มีต่อลูกนั้นเป็นความผูกพันอันสำคัญยิ่งของชีวิตพ่อแม่ ที่เรียกว่า primary relationship แต่ความผูกพันที่ลูกมีต่อพ่อแม่นั้นเป็นความผูกพันรอง หรือ secondary relationship (primary relationship ของลูกก็คือระหว่างเขากับลูกของเขา ซึ่งก็คือหลานของเรานั่นเอง อ่านถึงตอนนี้แล้วคนเป็นพ่อแม่อาจรู้สึกเศร้า-เราไม่ใช่คนสำคัญของลูกอีกต่อไปแล้ว แต่นี่คือความจริงของชีวิต) ดังนั้นจึงเป็นการง่ายกว่าที่ลูกจะตัดขาดจากพ่อแม่ เพราะเขาสูญเสียน้อยกว่า!

แต่ที่แย่ก็คือการสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นแค่สองฝ่ายเท่านั้น มีอีกหลายฝ่ายที่ต้องสูญเสีย โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย โดยเฉพาะหลานที่ยังเป็นเด็กหรือยังไม่ได้เกิดมาที หลานจะสูญเสียความสัมพันธ์กับปู่ย่าตายาย ทั้งๆที่ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมที่สุดในชีวิตของเขาทีเดียว

เขียนถึงตรงนี้ก็เสียดายแทนหนูน้อยอาร์ชี ที่น่าจะได้เล่นสนุกกับย่าทวดควีน!

ดังนั้นคงจะเป็นการดีไม่น้อยหากมองข้ามรอยร้าวเล็กๆไปบ้าง เพราะจริงๆแล้วแม้จะมีรอยร้าวเล็กๆ จานชามใบนั้นก็ยังคงใช้ได้อยู่ ขอเพียงอย่าเป็นคนเป๊ะ สมบูรณ์แบบหรือมองโลกในแง่ร้าย จับจ้องที่รอยร้าวตลอดเวลาก็แล้วกัน

แต่หากมีรอยร้าวใหญ่ ก็จงรีบซ่อม หาเทปหากาวมาเชื่อมต่อ ก่อนที่จานจะแตก!

รอยร้าวในครอบครัวส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากความขัดแย้งเล็กๆ ที่ปล่อยไว้ แล้วขยายกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่
พอขัดแย้งมากๆก็เกิดความไวทางอารมณ์ (emotional sensitivity) ไม่ว่าจะขยับซ้ายหรือขยับขวา
อีกฝ่ายก็จะอ่อนไหวและมีปฏิกิริยา

ความขัดแย้งเกิดจากความแตกต่าง แต่ความแตกต่างในครอบครัวเป็นของปกติ เพราะเราแต่ละคนไม่เหมือนกันตั้งแต่ระดับเซลล์เลยทีเดียว แม้พี่น้องฝาแฝดไข่ใบเดียวกันก็ยังแตกต่างกัน

คราวหน้ามาคุยต่อว่าจะจัดการกับรอยร้าวอย่างไร?

ไม่อยากให้มีรอยร้าวยในครอบครัว แนะนำอ่านหนังสือ “จิตบำบัดและการให้คำปรึกษาครอบครัว”
และเรียนหลักสูตรออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี”

#ปั้นใหม่ #การบริหารจัดการครอบครัว #จิตบำบัดและการให้คำปรึกษาครอบครัว

Similar Posts