บทความสำหรับบุคคล การพัฒนาตนเอง

ร้องไห้ ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ

ร้องไห้

เหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อาจารย์อดคิดทบทวนไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น? และทำอย่างไรสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก?

ผู้ชายร้องไห้

ถ้าเราสังเกตข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ จะพบว่าในปีที่ผ่านมามีผู้ชายหลายคนปลิดชีพตัวเอง และหลายคนทำร้ายคนอื่น ก่อนที่จะทำร้ายตัวเอง

เราทุกคนดำเนินชีวิตตาม perception ของเรา คำว่า perception หมายถึงมุมมอง ความคิด ความเชื่อ ที่เราสร้างขึ้นมา เกี่ยวกับโลกนี้ ผู้คนรอบตัวและเกี่ยวกับตัวเราเอง สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนตัวกำหนดว่าเราจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรก็คือ perception ที่เรามีเกี่ยวกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความนับถือตนเอง ที่เรียกว่า self-esteem

โดยทั่วไปแล้วหาก self-esteem ของบุคคลถูกกระทบหรือถูกทำลาย ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็คือ รู้สึกถูกหมิ่นศักดิ์ศรี รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และรู้สึกโกรธ ในบางครั้งความรู้สึกโกรธอาจเด่นชัดกว่าความรู้สึกอื่น แต่ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแบบไหนก็ตาม หากทิ้งไว้นานเข้า มันจะท่วมท้น และทำให้บุคคลทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อผู้อื่นได้

บางครั้งคนดีก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ และเราอาจจะตำหนิการกระทำของบางคนว่า ทำไปโดยใช้อารมณ์ ทำไมจึงไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย? นักวิจัยทางด้าน neuroscience ซึ่งศึกษาถึงการทำงานของสมองพบว่า อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญมากที่ขับเคลื่อนให้คนเราตัดสินใจ การวิจัยในคนไข้ที่ถูกตัดเนื้อสมองส่วนที่ทำหน้าที่ “รู้สึก” ออกไปแล้วนั้น พบว่า คนไข้ไม่สามารถตัดสินใจได้แม้สมองส่วนที่ “คิด” ยังดีอยู่ก็ตาม ดังนั้น เมื่ออารมณ์ เป็นส่วนที่ผลักดันในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล สิ่งที่จะทำให้คนเราตัดสินใจได้ดีพอและมีเหตุผลพอก็คือทำให้อารมณ์สงบลงก่อน ทำให้สมองที่ “รู้สึก” ทำงานเบาลงหน่อย สมองส่วนที่ “คิด” จะได้ทำงานเด่นขึ้น

อารมณ์จะสงบลงได้ต่อเมื่อมีการระบายออก และวิธีระบายที่ดีที่สุดก็คือ การพูดออกมา แต่หลายคนไม่สามารถที่จะพูดออกมาได้ และใช้ชีวิตอยู่กับความรู้สึกลบเป็นเวลานานนับปี การบ่มเพาะความรู้สึกลบเอาไว้ในตนก็เหมือนกับการขุดบ่อน้ำที่ไม่มีทางระบายเอาไว้ นานๆเข้าบ่อน้ำก็เน่าเหม็น

เมื่อเราเป็นเด็ก มันง่ายที่จะพูดระบายความรู้สึกทุกข์ใจ แต่เมื่อเราโตขึ้นโอกาสที่จะระบายให้ผู้อื่นรับฟังก็ยากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนนั้นเป็นโสด หรือใช้ชีวิตตามลำพัง (การวิจัยพบว่าคนโสดจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่แต่งงานแล้ว) นอกจากนี้หากบุคคลนั้นมีหน้าที่การงานดี เป็นที่นับหน้าถือตา การเล่าความรู้สึกแย่ๆ ให้คนอื่นฟังก็เป็นสิ่งที่ยากเพราะมันเหมือนกับการเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาหรือความอ่อนแอในตนเอง

ในสังคมเอเชีย ผู้คนบอกความรู้สึกน้อยกว่าสังคมตะวันตก และมักมีมุมมองว่าการแสดงความรู้สึกออกมาเป็นความอ่อนแอ แต่ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายในมักหาทางออกจนได้ โดยออกมาเป็นอาการป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง กล้ามเนื้อเกร็ง หรือชัก การวิจัยพบว่าคนเอเชีย มีอาการป่วยทางกายอันเนื่องมาจากสาเหตุทางจิตใจ (ที่เรียกว่า psychosomatic) มากกว่าคนยุโรป

ผู้หญิงเล่าความรู้สึกได้ง่ายกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ง่ายกว่าและช่างคุยกว่า สังคมมีค่านิยมที่ปลูกฝังกันมานานว่าผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ ต้องไม่เศร้า ไม่เปราะบางหรือพ่ายแพ้ ผู้ชายหลายคนจึงเก็บความทุกข์ ความเศร้า และความโกรธไว้ในใจ ด้วยเหตุนี้แม้ผู้หญิงจะมีอัตราป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าผู้หญิง

ในสังคมยุคใหม่ที่เราสัมพันธ์กับสมาร์ทโฟนมากกว่าคนข้างตัว การจะเล่าความรู้สึกเปราะบางให้อีกคนหนึ่งฟังคงจะยากยิ่งขึ้นอีก

การที่คนๆหนึ่ง ตัดสินใจทำอะไรลงไปนั้น มีเบื้องหลังที่ซับซ้อน และมีเรื่องราวมากมายที่เราไม่รู้ แต่หากในวันนี้ เราตั้งใจที่จะใส่ใจกับคนรอบข้างให้มากขึ้น เราจะไม่เพียงถามว่า “สบายดีหรือ?” แล้วเดินจากไป เราจะสละเวลารับฟังพ่อของเรา พี่ชาย น้องชาย สามีและลูกชายของเราอย่างตั้งใจ หากเราสร้างค่านิยมใหม่ในสังคม ว่าการร้องไห้ไม่ใช่ความอ่อนแอ และผู้ชายก็เสียใจได้ และร้องไห้ได้ เรื่องเศร้าแบบเมื่อวันก่อนก็คงจะเกิดน้อยลง

(ปล. เชื่อไหมคะว่าในวันเดียวกันกับที่มีข่าวเศร้า อาจารย์ได้ตรวจคนไข้ที่เป็นเด็กผู้ชายชั้นมัธยมถึง 3 คนและได้ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่ละคนไม่เคยเล่าความรู้สึกเศร้าให้ผู้ปกครองฟังเลย คนแรกรู้สึกท้อแท้ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และเคยคิดจะฆ่าตัวตาย คนที่สองบอกว่าเหนื่อย ทะเลาะกับพ่อแม่ทุกวัน ชีวิตไม่มีความสุขเลย สำหรับคนที่สามขณะที่คุยกันก็กลั้นน้ำตาเอาไว้ พออาจารย์บอกว่า ผู้ชายก็ร้องไห้ได้นะ ร้องไห้ ไม่ได้แปลว่า อ่อนแอ เท่านั้นแหละก็สะอื้นเสียงดัง และใช้กระดาษทิชชูเช็ดน้ำตากองอยู่บนโต๊ะแบบนี้ค่ะ)

แนะนำอ่านหนังสือ “สร้างชีวิตใหม่”

Similar Posts