12 เทคนิคอ่านหนังสือคล่อง ลูกอ่านหนังสือไม่คล่องทำไงดี?

ลูกอ่านหนังสือไม่คล่อง ทำยังไงดี? “ทักษะในการอ่าน เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่ง”
ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ หากคุณไปต่างประเทศคุณจะพบว่า ร้านหนังสือที่นั่นมีผู้คนมากมาย ทั้งเด็กเล็กคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ เข้ามาเลือกซื้อหนังสือ บางร้านจัดมุมสบาย มีเก้าอี้โซฟานุ่มๆ ให้ลูกค้านั่งอ่านหนังสือ การไม่ชอบอ่านทำให้เรามีโลกทัศน์ไม่กว้างไกลและความคิดไม่ลึกซึ้ง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่านอย่างจริงจัง!
ลูกอ่านหนังสือไม่คล่อง อ่านไม่ค่อยออก
“ฟัง พูด อ่าน เขียน” เป็นทักษะที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้และหมั่นฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อให้ลูกหัดโต้ตอบ รวมทั้งเข้าใจการสื่อสารกับผู้อื่น ดังนั้น หากลูกมีปัญหาในทักษะด้านใดด้านหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบแก้ปัญหาในจุดนั้นๆ ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับลูกรักในระยะเวลาที่นานเกินไป จนยากที่จะแก้ไข
12 เทคนิคช่วยลูกอ่านให้คล่อง
1. พูดกับลูกบ่อยๆ
ภาษาพูดที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานของความสามารถในการอ่าน-เขียน เด็กเรียนรู้ภาษาโดยเลียนแบบคำพูดของพ่อแม่
ดังนั้นจงพูดกับลูกบ่อยๆเพื่อให้ลูกมีทักษะทางภาษามากขึ้น
2. เป็นตัวอย่างในการอ่าน
จงเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นตั้งแต่เล็ก ลูกจะซึมซับนิสัยการอ่านโดยไม่รู้ตัว เมื่อคุณอ่านหนังสือที่น่าสนใจจบแล้ว
เล่าให้ลูกฟังว่าคุณได้เรียนรู้อะไร การวิเคราะห์ แสดงความเห็นให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกเป็น “ผู้เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น”
3. หาหนังสือที่สนุกหรือน่าสนใจให้ลูกอ่าน
สังเกตว่าลูกสนใจอะไร หาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ลูกอ่าน การเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ จะทำให้เด็กสนุกกับการอ่าน
และมีสมาธิมากขึ้น
4. เลือกหนังสือให้เหมาะกับวัย
ในเด็กเล็กพยายามเลือกหนังสือที่อ่านง่าย มีภาพประกอบเยอะและมีสีสัน จะได้อ่านสนุก ส่วนเด็กโตควรเลือกหนังสือ
ที่มีเนื้อความมากขึ้นหน่อย เช่น หนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก
5. หัดให้ลูกอ่านหนังสือเอง
ให้ลูกมีเวลาเงียบๆที่จะนั่งอ่านคนเดียว แต่ละสัปดาห์ควรจัดเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ให้ทุกคนในบ้านอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ
วิธีนี้จะเป็นการปลูกฝังนิสัย “รักการอ่าน” และยังเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของครอบครัว
6. ฝึกการคิด-วิเคราะห์
เมื่ออ่านหนังสือจบ คุยกับลูก วิเคราะห์เนื้อหาที่อ่าน ถามไถ่ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ลูกชอบตรงไหนบ้าง การคุยเรื่องที่ลูกอ่าน จะทำให้ลูกเข้าใจเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกเล่าเกี่ยวกับความคิดเห็นของเขา เป็นการช่วยให้ลูกเปิดเผยตัวเองอและทำให้รู้ว่าคุณสนใจเขา
7. อย่าให้ลูกอ่านแต่การ์ตูน
การ์ตูนมักมีแต่คำพูดที่มีประโยคสั้นๆ จะทำให้เด็กขาดทักษะการอ่านเนื้อความพรรณนาที่ลึกซึ้งหรือสละสลวย และลูกจะตอบคำถามได้เพียงสั้นๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่สามารถเขียนรายงาน เขียนเรียงความหรือข้อสอบแบบอัตนัยได้ดีพอ
8. อ่านอย่างหลากหลาย
สิ่งที่อ่านไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเรียนหรือเป็นเล่มๆเสมอ เด็กสามารถฝึกอ่านสิ่งที่น่าสนใจเช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ กล่องบรรจุ ใบปลิวโฆษณา ป้ายตามข้างถนน ฯลฯ รอบตัวเรามีหลายอย่างที่จะอ่านและเรียนรู้ได้ ควรเลือกคอลัมน์ที่ดีและชวนลูกอ่าน
9. มีตู้หนังสือประจำบ้าน
หาตู้ที่เปิดง่ายๆไว้ใส่หนังสือจิปาถะเพื่อให้ลูกหยิบอ่านตามใจชอบ ควรมีหนังสือหลากหลาย เช่น สัตว์ กีฬา วรรณกรรมเรื่องแปล รวมทั้งหนังสืือภาษาอังกฤษด้วย จะช่วยฝึกนิสัยรักการอ่าน ฝึกการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกให้ลูกหาความสุขที่บ้านได้ด้วย
10. พาลูกไปห้องสมุด
ควรหาโอกาสพาลูกไปห้องสมุด การให้เด็กคุ้นเคยกับห้องสมุดเป็นการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ เมื่อเด็กเห็นหนังสือเยอะๆ
เขาจะรู้สึกตื่นเต้น การเห็นคนนั่งอ่านหนังสืออย่างตั้งใจเป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่ดีที่ลูกควรซึมซับเอาไว้
11. พาลูกไปร้านหนังสือบ่อยๆ
เวลาไปศูนย์การค้า พยายามให้ลูกเข้าร้านหนังสือด้วย การที่เด็กได้เห็นผู้คนเข้ามาในร้านหนังสือ เปิดอ่านหนังสือ
และซื้อหนังสือกลับบ้านเป็นการปลูกฝังที่ดี ทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่น่าซื้ออีกอย่างหนึ่งคือหนังสือ ไม่ใช่แค่เกมหรือขนมเท่านั้น
12. เล่าเรื่องให้ลูกฟัง
หากคุณอ่านไม่เก่ง หรือไม่ชอบการอ่านใช้วิธีเล่าเรื่องให้ลูกฟัง เช่น เรื่องของคุณปู่ คุณย่า หรือเรื่องราวตอนที่คุณป็นเด็ก
เรื่องในวัยด็กของพ่อแม่เป็นสิ่งที่เด็กๆสนใจ นอกจากจะทำให้ลูกชอบภาษาและเกิดจินตนาการแล้ว
ยังทำให้เขารู้จักคุณมากขึ้นด้วย!

อ่านเทคนิคดีๆมากมายเพิ่มเติมได้ที่จากหนังสือ “ปัญหาการเรียนและเทคนิคช่วยให้ลูกเรียนดี”
และเรียนบทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี”