ลูกไม่อยากไปโรงเรียน เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน

เห็นวีดีโอเด็กไม่ยอมเข้าโรงเรียนแล้วถูกคุณครูกึ่งลากกึ่งจูง เพื่อให้เข้าไปในโรงเรียนให้ได้ มี comment มากมายที่ต่อว่าครูแต่บาง comment ก็ให้กำลังใจ เช้านี้เลยขอถือโอกาสอธิบายเรื่องนี้ในมุมมองของจิตแพทย์เด็กค่ะ
เห็นเหตุการณ์แบบนี้ทำให้คิดถึงปัญหาที่จิตแพทย์เด็กเรียกกันทับศัพท์ว่า school refusal (แปลง่ายๆว่า เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนหรือเด็กปฏิเสธโรงเรียน)
ปัญหานี้มักเกิดในช่วง อนุบาล ป. 1 ป. 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กเริ่มเข้าสังคมใหม่จากบ้านไปสู่โรงเรียน และจะต้องปรับตัวมากมาย เด็กหลายคนมีลักษณะวิตกกังวลง่าย และ/หรือปรับตัวยาก ก็จะเกิดปัญหานี้ขึ้นมา
อาการมักเริ่มหลังจากหยุดโรงเรียนไปสักพักหนึ่ง เช่น เริ่มในวันจันทร์เช้า หรือเมื่อเปิดเทอมใหม่ๆ เด็กจะมีอาการวิตกกังวลนอนไม่หลับนึกถึงวันพรุ่งนี้ แล้วก็ประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางคนอาจจะปวดท้อง อาเจียน ปวดหัว บางคนอาเจียนมากจนพ่อแม่ตกใจ บางคนถึงขนาดเป็นไข้ก็มี!
แต่เด็กพวกนี้จะมีลักษณะอย่างหนึ่งที่พิเศษกว่าโรคทั่วไปคือเมื่อพ่อแม่อนุญาตให้หยุดอยู่ที่บ้าน อาการทั้งหมดจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง เวลาอยู่ที่บ้านก็จะร่าเริงสดใสเล่นสนุก จะมองไม่เห็นความกังวลที่มีในตอนเช้าหรือเมื่อคืนเลย พ่อแม่จะบอกว่า ลูกกลายเป็นคนละคนไปเลย!
การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ต้องประเมินอย่างละเอียด 3 ด้าน
1. ค้นหาสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดความตึงเครียดความกังวล (ซึ่งอาจจะเป็นการถูกเพื่อนแกล้ง การไม่สบายตอนที่อยู่ในโรงเรียน หรือการมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่นถูกครูดุ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียน)
2.ประเมินความสามารถในการปรับตัว เด็กทุกคนเมื่อไปโรงเรียนย่อมมีความตึงเครียดไม่มากก็น้อย แต่เด็กส่วนใหญ่จัดการกับความตึงเครียดได้และไปโรงเรียนได้ ในเด็กที่ปฏิเสธโรงเรียนมักจะพบว่าเป็นเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูในแบบที่ไม่ส่งเสริมการปรับตัว บางครั้งเป็นการเลี้ยงดูแบบตามใจ หรือเป็นสไตล์ของเด็กเองที่เป็นคนขี้กังวล
3. ประเมินครอบครัว เด็กจำนวนมากวิตกกังวลว่าพ่อแม่จะทะเลาะกัน หรือแม่จะไม่ปลอดภัยถ้าทิ้งไว้ที่บ้านคนเดียว และ เกิดความกังวลในการจากบ้าน หลายคนต้องการที่จะเฝ้าดูที่บ้านให้แน่ใจว่าพ่อแม่ไม่ทะเลาะกันและแม่ปลอดภัยไม่ถูกพ่อทุบตี เป็นต้น
วิธีช่วยเหลือเด็ก
1. แก้ไขสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียด
ถ้าคิดว่าความตึงเครียดเกี่ยวข้องกับโรงเรียนก็จำเป็นจะต้องติดต่อคุณครูให้ช่วย
2. แก้ไขปัญหาในครอบครัว โดยการทำ family therapy หรือการบำบัดครอบครัว
3. เด็กหลายคนมีอาการกลัวโรงเรียนจริงๆ ที่เราเรียกว่า school phobia อาจจำเป็นจะต้องให้ยา และทำ พฤติกรรมบำบัดแบบ desensitization คือให้ค่อยๆชินกับการไปโรงเรียนทีละเล็กทีละน้อย เช่นเริ่มไปครั้งแรก อาจอยู่แค่ 1 ชม.ก่อนแล้วก็เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ
4. เปลี่ยนแปลงวิธีเลี้ยงดู เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว
สิ่งที่ยากในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ก็คือการจัดการให้เด็กไปรร.ให้ได้ หลักการพื้นฐานมีอยู่ว่าต้องให้เด็กไปโรงเรียนโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้เด็กอยู่ที่บ้าน การปรับตัวก็จะยิ่งแย่ลงเพราะเมื่อใดก็ตามที่อยู่บ้านเด็กก็ไม่จำเป็นจะต้องหัดปรับตัว การปรับตัวก็จะไม่เก่ง แล้วจะเกิดอาการกลัวโรงเรียนไม่คุ้นเคยกับโรงเรียน ลงเอยด้วยไม่อยากไปโรงเรียนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้การที่เด็กอยู่บ้านก็จะทำให้เด็กเรียนหนังสือไม่ทัน มีการบ้านพอกพูน เด็กจะเกิดความวิตกกังวลเรื่องการบ้านเพิ่มขึ้น รวมทั้งเด็กจะยิ่งไม่คุ้นเคยกับเพื่อน จะรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน เมื่อกลับไปโรงเรียนอีกครั้งหนึ่งก็จะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ สมมุติว่าวันนี้พยายามไปโรงเรียนสำเร็จ แต่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ วันรุ่งขึ้นเด็กก็จะไม่อยากไปโรงเรียนอีก
เด็กมักจะอ้อนวอนร้องขอให้ผู้ปกครองยอมให้หยุดรร. และผู้ปกครองเยอะมากใจไม่แข็งพอที่จะปฏิเสธลูก ในหลายเคสจิตแพทย์ก็จะแนะนำว่า ให้ผู้ปกครองพยายามใจแข็งแล้วพาลูกมาส่งที่ประตูโรงเรียน จิตแพทย์อาจจะติดต่อคุณครูเพื่อทำความเข้าใจปัญหานี้และให้คุณครูช่วยรับอยู่ที่ประตูโรงเรียน แน่นอน บางทีก็ต้องอุ้มกันดึงกันแบบในวิดีโอนี่แหละ (อาจารย์เคยเจอบางเคสที่ พ่อแม่ปล่อยไว้ที่ประตูโรงเรียนแล้วเด็กก็วิ่งหนีออกไป จนเกือบถูกรถชน)
อย่าตำหนิคุณครูเลยนะ คุณครูพยายามมากแล้ว…
ปัญหาเด็กปฏิเสธโรงเรียนนี้หากไม่แก้ไขให้ดี อาจจะลงเอยด้วยการที่หยุดเรียนเป็นเทอมหรือเป็นปีก็มี และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ยากมากในที่สุด ถือว่าเป็นเคสหินสำหรับจิตแพทย์เด็กเลยทีเดียว!
#ปั้นใหม่ #เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี