บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก | บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น

4 วิธีการเลี้ยงลูก คุณอยากเลี้ยงลูกแบบไหน?

วิธีการเลี้ยงลูก

วิธีการเลี้ยงลูก Parenting Style

การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะของเด็ก คือให้เด็กมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ แต่ก็มีการกำหนดขอบเขตพฤติกรรม มีการใช้เหตุและผลทั้งของพ่อแม่และลูกมาประกอบกัน พ่อแม่แบบนี้จะมีความคาดหวังสูงแต่ไม่ได้เคร่งครัดจนเกินไป และมีการให้ความรักความอบอุ่นและใส่ใจต่อลูก ส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของครอบครัว

วันนี้อยากเล่าถึงวิธีการเลี้ยงดูลูก (parenting style) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลอย่างยิ่งต่อชีวิตในอนาคตของลูก มีการแบ่งวิธีเลี้ยงดูเป็น 4 แบบ แต่ละแบบมีผลแตกต่างกัน ดังนี้

1. การเลี้ยงดูแบบมีอำนาจปกครอง (authoritative style)

เป็นการเลี้ยงดูที่มีการควบคุมสูง มีกฎระเบียบเสมอต้นเสมอปลาย แต่พ่อแม่ก็ตอบสนองลูกทางอารมณ์เป็นอย่างดี พูดง่ายๆ ว่า “มีความหนักแน่นและอบอุ่น”

การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะของเด็ก คือให้เด็กมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ แต่ก็มีการกำหนดขอบเขตพฤติกรรม มีการใช้เหตุและผลทั้งของพ่อแม่และลูกมาประกอบกัน พ่อแม่แบบนี้จะมีความคาดหวังสูงแต่ไม่ได้เคร่งครัดจนเกินไป และมีการให้ความรักความอบอุ่นและใส่ใจต่อลูก ส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของครอบครัว

2. การเลี้ยงดูแบบใช้อำนาจ (authoritarian style)

มีการตอบสนองทางอารมณ์น้อยและไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของลูก “มีความหนักแน่นแต่ไม่อบอุ่น”

การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่มีความเข้มงวด มีระบบ ควมคุมและวางกฎเกณฑ์ให้ลูกทำตามอย่างเข้มงวด เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองคิดว่าดีที่สุดไว้เพื่อลูก และคาดหวังให้เด็กต้องทำตามโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อธิบายเหตุผลที่ทำน้อยมากหรือแทบจะไม่อธิบายเลย พ่อแม่ในกลุ่มนี้มักฝึกหรือสอนลูกด้วยการลงโทษ ดุ ด่า มากกว่าการฝึกระเบียบวินัย มีการเรียกร้องสูงแต่กลับไม่เอาใจใส่หรือตอบสนองความต้องการจริงๆ ของลูก

3. การเลี้ยงดูแบบตามใจ (permissive-indulgence style)

พ่อแม่ให้ความอบอุ่นแก่ลูกมาก ตอบสนองความต้องการของลูกมาก ตามใจลูกโดยไม่มีกฎระเบียบที่หนักแน่นหรือเสมอต้นเสมอปลาย “ไม่หนักแน่นแต่อบอุ่น”

การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่สนับสนุนและรักลูกมาก ปล่อยให้ลูกทำทุกอย่างที่ต้องการโดยไม่มีการกำหนดขอบเขต ไม่มีการฝึกระเบียบวินัย ใช้การลงโทษน้อยมาก พ่อแม่อาจให้คำปรึกษาหรือพยายามใช้เหตุผลกับลูก แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรม เมื่อมีการตั้งกฎมักจะให้ลูกทำตามกฎไม่ได้เพราะตนเองใจอ่อน เมื่ออยากให้ลูกทำอะไรมักจะใช้รางวัลเป็นสิ่งล่อ

4. การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (permissive-indifferent style)

พ่อแม่ปล่อยให้ลูกทำอะไรก็ได้ตามใจตนเอง ไม่มีกฎระเบียบที่หนักแน่น ทั้งยังเพิกเฉย ไม่สนใจลูก “ไม่หนักแน่นและไม่อบอุ่น”

การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ใส่ใจลูกน้อยมาก ไม่ให้ความสนใจหรือตอบสนองความต้องการใดๆ ของลูก เช่น ไม่เล่นด้วย ปล่อยให้เล่นเองคนเดียว เมื่อลูกเข้าหาก็ไม่สนใจ หรือสนใจแบบให้ผ่านไปที ไม่สนใจที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กเพราะรู้สึกเป็นเรื่องเสียเวลาและยุ่งยาก โดยส่วนมากพ่อแม่ที่เป็นแบบนี้มักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังทอดทิ้งลูก เพราะสนใจแต่หน้าที่การงาน หรือปัญหาในชีวิตตัวเอง

การวิจัยในต่างประเทศพบว่า..

การวิจัยในยุโรปและสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบมีอำนาจปกครอง จะมีวุฒิภาวะและมีประสิทธิภาพทางสังคม (social competence) สูง ปรับตัวเก่ง พึ่งตนเองได้ดี มีความรับผิดชอบทางสังคมดี และมีผลการเรียนดี ส่วนเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบอื่นมักมีลักษณะตรงข้าม ทั้งยังมีปัญหาพฤติกรรมได้บ่อยเมื่อเข้าวัยรุ่น

การเลี้ยงดูแบบใช้อำนาจ มักจะทำให้เด็กมีความนับถือตนเอง (self-esteem) ต่ำ ส่วนการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยมีผลลัพธ์แย่ที่สุดในบรรดาการเลี้ยงดูทั้งสี่แบบ

การวิจัยในฮ่องกงพบว่า วัยรุ่นที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบใช้อำนาจบังคับจะมีพฤติกรรมเกเรในระดับสูง แต่กลุ่มที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบให้การสนับสนุนและมีความเข้าใจลูกจะมีพฤติกรรมเกเรในระดับต่ำ

การสนับสนุนและเข้าใจลูก ทำให้วัยรุ่นมีอัตลักษณ์ที่ดี มีความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่การเลี้ยงดูแบบใช้อำนาจบังคับนั้นส่งผลตรงข้าม

ตอนนี้ก็รู้แล้วนะคะว่า หากอยากให้ลูกโตไปดี ควรเลี้ยงวิธีไหน?
ไม่มีคำว่าสายเกินไป หากจะเริ่มต้นใหม่กับลูกค่ะ
เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกท่านค่ะ

อยากเลี้ยงลูกให้ดีและถูกวิธีแนะนำหลักสูตรออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี”
และอ่านหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” เพื่อชีวิตที่ดีของลูก คุณ และครอบครัว

Similar Posts