สมาธิคืออะไร?

คำว่า สมาธิ (attention) ตามความหมายทางการแพทย์ก็คือ ความสามารถที่จะเพ่งความสนใจไปยังสิ่งกระตุ้นบางสิ่ง (คำว่าสิ่งกระตุ้น (stimuli) หมายถึง อะไรก็ตามที่มากระตุ้นประสาทสัมผัสเช่น ภาพ เสียง กลิ่น ฯลฯ) และเลือกเฟ้นว่าสิ่งกระตุ้นใดบ้างที่ควรให้ความสนใจ
อวัยวะที่รับผิดชอบในการสร้างสมาธิคือ สมอง
สมองส่วนที่มีบทบาทในการสร้างสมาธิคือ
ก้านสมอง (Brain Stem)
เป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไปตรงกลางของสมอง ณ.ส่วนนี้มีระบบที่เรียกว่า RAS (Reticular Activating System) ทำหน้าที่ควบคุมระดับการตื่นตัวของบุคคล ถ้า RAS ถูกทำลายไปก็จะเกิดสภาวะไม่รู้สึกตัวที่เรียกว่า โคม่า (coma) ในคนที่หลับ RAS จะทำงานลดลงทำให้การตื่นตัวของบุคคลนั้นลดลงด้วย
สมองส่วนหน้า (Frontal lobe)
เป็นสมองที่อยู่ด้านหลังหน้าผาก ทำหน้าที่ควบคุมและเลือกเฟ้นว่าสิ่งกระตุ้นใดมีความสำคัญที่เราจะต้องสนใจหรือมีสมาธิจดจ่อ
ธาลามัสและลิมบิก (Thalamus, limbic)
เป็นสมองเกี่ยวกับอารมณ์ ส่วนนี้จะมีเส้นใยประสาทติดต่อกับสองส่วนแรก ดังนั้นอารมณ์ของบุคคลจึงมีอิทธิพลต่อสมาธิ คนที่อารมณ์เศร้ามักจะมีสมาธิไม่ดี ใจลอย ขี้ลืม ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง ส่วนคนที่มีความวิตกกังวลก็จะตั้งสมาธิได้ไม่นานเช่นกัน
สมองทั้งสามส่วนนี้ทำงานประสานกันและมีเส้นใยติดต่อเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น
เชื่อมโยงกับสมองส่วนที่รับภาพและเสียง เป็นต้น สิ่งกระตุ้นหรือข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามาสู่ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นแสง เสียงหรือความรู้สึกร้อนหนาวจะผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสและเข้าไปสู่สมอง จากนั้นสมองจะวิเคราะห์ข้อมูล แปลข้อมูล และสั่งการซึ่งแสดงออกมาเป็นการกระทำต่างๆ
สมาธิแบ่งเป็นสองแบบ
สมาธิสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
สมาธิแบบต่อเนื่อง (sustained attention)
หมายถึง การคงความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การมีสมาธิในการอ่านหนังสือจนจบบท เป็นต้น บุคคลที่มีความบกพร่องในสมาธิแบบนี้มีลักษณะไม่อดทน ทำอะไรได้ไม่ค่อยนาน ทำงานแรกได้เพียงครู่เดียวแล้วก็ลุกไปทำสิ่งอื่น โดยที่งานแรกยังไม่เสร็จ
สมาธิในการคัดเลือกสิ่งกระตุ้น (selective attention)
หมายถึง ความสามารถในการตัดสิ่งกระตุ้นที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อที่จะให้ความสนใจต่อสิ่งกระตุ้นที่สำคัญหรือตรงประเด็น ตัวอย่างเช่น ขณะที่เด็กนั่งฟังครูสอนในชั้นเรียน จะมีสิ่งกระตุ้นหลายอย่างผ่านเข้ามาสู่ประสาทสัมผัส เช่น ภาพครูเข้ามาทางประสาทตา เสียงครู เสียงรถยนต์วิ่ง และเสียงเพื่อนคุยกัน เข้ามาทางประสาทหู เป็นต้น เด็กจะต้องเลือกว่าจะสนใจสิ่งกระตุ้นใด ถ้าเด็กมีสมาธิแบบนี้ดี เด็กจะสามารถจดจ่อในสิ่งที่ครูพูด และตัดเสียงรถยนต์วิ่งและเสียงเพื่อนออกไปจากความสนใจได้ ในคนที่สมาธิแบบนี้บกพร่องจะมีอาการใจลอย วอกแวกง่าย นอกจากนี้มักจะทำงานที่อยู่ตรงหน้าไม่เสร็จ เพราะจะไปสนใจสิ่งอื่นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คล้ายกับคนที่มีปัญหาในสมาธิแบบแรกได้
ในชีวิตประจำวันสมาธิทั้งสองอย่างนี้จะทำงานพร้อมๆ กันตลอดเวลา ทำให้เราสามารถเลือก
สิ่งกระตุ้นที่สำคัญและให้ความสนใจต่อสิ่งนั้นได้นานพอ เช่น เลือกให้ความสนใจกับงานที่อยู่ตรงหน้า (มีสมาธิในการคัดเลือกสิ่งกระตุ้น) และทำงานต่อเนื่องไปจนเสร็จ แม้จะเป็นเวลาหลายชั่วโมงก็ตาม (มีสมาธิแบบต่อเนื่อง) การมีความบกพร่องในสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างจะทำให้เราไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้อย่างเหมาะสม และไม่สามารถทำงานเสร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้
แนะนำเรียนหลักสูตรออนไลน์ “ดูแลลูกสมาธิสั้น” และอ่านหนังสือ “เซตสร้างลูก”