ไม่มีหมวดหมู่

สอนลูกให้คิดเป็น คิด วิเคราะห์ Critical Thinking

สอนลูกให้คิดเป็น

หลายครั้งพ่อแม่ตกหลุมพรางคำว่า ‘ลูกเก่ง’ เท่ากับ ‘ลูกคิดเป็น’ ซึ่งไม่ใช่!
 
เราจึงมักเห็นเด็ก 5 ขวบ เก่งเขียน ก-ฮ คล่อง แต่พอทำน้ำหกกลับร้องไห้ไม่รู้จะทำอย่างไร
หรือสอบได้ที่ 1 แต่ยังดิ้นพราดจะเป็นจะตายถ้าไม่ได้คะแนนเต็มกลายเป็นว่าลูกเรียนเก่ง แต่ชีวิตจริงเมื่อเผชิญปัญหากลับรับมือไม่ได้ การเรียนอย่างเดียวให้ลูกได้แค่ “ความรู้”แต่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ “ฝึกวิธีคิด” ให้ลูก

สอนลูกให้คิดเป็น สอนลูกให้คิด วิเคราะห์

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของเด็กไทยที่อาจารย์พบบ่อย คือการที่เด็กไทยคิด วิเคราะห์ไม่ค่อยเป็น คิดว่าเป็นเพราะว่าพ่อแม่สั่งเยอะไป หรือพ่อแม่คอยจัดการดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อย เลยไม่ค่อยเกิดปัญหาในขีวิต ลูกก็เลยเลยคิด วิเคราะห์เพื่อจะแก้ปัญหาก็ไม่เป็น…

วิธีที่จะจัดการก็คือ

  • อย่าสั่งลูกเยอะ เลือกสั่งเฉพาะเรื่องสำคัญ
  • อย่าทำทุกอย่างให้เรียบร้อยจนกระทั่งไม่เกิดปัญหาในชีวิตเลย เพื่อเด็กจะได้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นบ้าง

สาเหตุอีกอันของการที่ทำให้เด็กคิด วิเคราะห์ไม่ค่อยเป็นก็คือการที่ชีวิตทุกวันนี้มีแต่ความรีบเร่ง!

เด็กตื่นเช้ามาก็ต้องรีบไปโรงเรียนกลับมาจากโรงเรียน ทำการบ้านเยอะมาก กว่าจะเข้านอนก็ 3-4 ทุ่มชีวิตไม่ได้ทำอะไรเลย ก็เลยไม่ได้มีช่วงเวลาที่จะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา วางแผน หรือเวลาพูดคุยกันที่จะเสริมสร้างกระบวนการคิด

เวลาในชีวิตประจำวันหมดไปกับการตื่นเช้าไปโรงเรียน จัดการกับการบ้านแล้วก็เข้านอน เป็นภาวะของชีวิตในสมัยใหม่ เลยทำให้เกิดผลที่อาจารย์เจอบ่อยๆ คือ
– เด็กมักจะเรียนหนังสือได้เกรดสี่หรือไม่ก็อยู่ในห้องกิ๊ฟแต่คิดไม่ค่อยเป็น
– เขาจำหนังสือได้ เขาท่องหนังสือได้ เขาคิดโจทย์เลขได้ แต่เขาคิดวิเคราะห์ในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาไม่เป็น ก็เป็นอะไรที่น่าแปลกใจมาก! เหมือนกับความสามารถในการคิดวิเคราะห์มันทำไม่ได้ แต่ท่องหนังสือแล้วได้เกรดดี อันนี้ก็เป็นผลเสียสำหรับลูกเราอยากให้เด็กเติบโตมาแล้วมีความก้าวหน้าทางความคิดที่มันรอบด้าน หลากหลาย ไม่ใช่เก่งเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น

วันนี้อาจารย์ขอแนะนำเทคนิคสอนลูกให้คิดเป็น คิด วิเคราะห์

1. คุยกับลูกเยอะขึ้น

การคุยกับลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าในเวลาที่คุณคุยคุณก็จะได้บอกไอเดียของคุณ คุณจะได้เล่าเรื่อง เล่าประสบการณ์ของคุณ เราไม่คุยกันว่าเสาร์-อาทิตย์นี้ เราจะไปซื้ออะไร หรือเราจะไปห้างไหน แต่เราคุยกันเรื่องจิปาถะเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น

พ่อแม่อาจจะเล่าปัญหาบางอย่างที่ทำงาน แล้วพ่อแม่ก็เล่าว่า พ่อแม่แก้ปัญหาอย่างไร พ่อแม่อาจจะถามลูกว่าที่โรงเรียนเป็นอย่างไร ชวนลูกคุย คุยแบบสนุก ไม่ใช่คุยแบบเช็คว่าลูกเรียบร้อยดีไหม ไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องเสียมาหรือเปล่า คุยแบบสนุก คุยแบบเป็นกันเอง แต่สอดแทรกวิธีคิด วิเคราะห์ลงไป เช่น ถ้าอย่างนั้นเราจะแก้ปัญหาอย่างไร… ใช้วิธีนี้ดีกว่าไหม….

นี่เป็นการเสนอไอเดียหลากหลายให้กับลูก อย่าเพียงคุยกับลูก 2-3 ประโยคที่คนส่วนใหญ่คุย ตื่นเช้ามาก็ถามบอกว่า แต่งตัวเสร็จหรือยัง กินข้าวหรือยัง แล้วพอตอนเย็นมาก็ถามทำการบ้านเสร็จหรือยัง เข้านอนได้แล้ว นี่ไม่ใช่การพูดคุยนะคะ มันเป็นการเช็คว่าทำเรียบร้อยหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นของที่จำเป็น แต่ถ้าคุณทำเพียงแค่นั้น แล้วก็ไม่ได้ใช้เวลาที่จะพูดคุยในเรื่องอะไรที่มันมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น ความคิดของลูกก็จะไม่แตกยอดไป

2. อ่านหนังสือด้วยกันกับลูก

สำหรับเด็กในวัยอนุบาลกับประถม เป็นเทคนิคที่อยากจะแนะนำให้พ่อแม่ใช้ พ่อแม่หลายบ้านให้ลูกซื้อนิทาน ให้ลูกซื้อการ์ตูน แต่ว่าไม่ได้มีการอ่านด้วยกันแล้วก็ไม่ได้มีการมาคิดวิเคราะห์ด้วยกันว่าที่อ่านนั้นเป็นอะไร นิทานกับการ์ตูนไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาเท่าไหร่แต่… กระบวนการในการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเด็กอ่านคนเดียวเด็กก็คิดได้นิดเดียว

ขอแนะนำว่าอ่านไปกับลูก สมมุติว่าเด็กชอบอ่านเรื่องโคนัน..
โคนันก็มีวิธีสืบอะไรตั้งหลายอย่าง เราก็สามารถที่จะคุยกับลูกได้ว่า.. โคนันใช้วิธีนี้เป็นพ่อพ่อจะสืบแก้ปัญหานี้อย่างไร แล้วถ้าเป็นลูก ลูกคิดว่าจะทำอะไรต่างไปจากเขา อันนี้เป็นการที่เอาเนื้อเรื่องมา มีการพูดคุยกัน เสนอไอเดียบางอย่าง เป็นการหัดให้คิด

ถ้าเป็นเด็กเล็ก เช่น เราคุยกันเรื่อง นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงถูกหมาป่าเจ้าเล่ห์หลอก คุณแม่ก็อาจจะถามว่า..

ทำไมหนูน้อยหมวกแดงเขาถึงนึกขึ้นได้ว่านี่ไม่ใช่คุณย่าคุณยายของเรา?
ทำไมเขานึกได้ว่านี่เป็นหมาป่าอะไรทำนองนี้ ช่วยให้เด็กหัดคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นนะ
ทำไมเป็นสิ่งนั้น ทำไมเป็นสิ่งนี้ แทนที่จะอ่านเพื่อความสนุกอย่างเดียว

การอ่านหนังสือกับลูกนี่เป็นอะไรที่ดีมาก เป็นการใช้เวลาเชิงบวกด้วยกัน เป็นการสร้างสัมพันธ์ภาพ เป็นการหัดให้ลูกรู้สึกสนุกในการอ่านหนังสือด้วย จริงๆ แล้วความรักในการอ่าน ในการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาไปได้ดี เป็นคุณละกษณะชีวิตที่ต้องสร้างขึ้นในตัวเด็ก จากแนวคิดในเรื่องของ Positive Development (การพัฒนาเชิงบวก)

✅ หนังสือที่อ่านก็จะต้องเลือก นิทานเป็นเรื่องดีสำหรับเด็ก เลือกนิทานที่แสดงถึงความกระตืนรือร้น ความอดทน ความมุ่งมานะ ความมีน้ำใจ ความรับผิดชอบ การเอื้อเฟื้อ

✅ เลือกนิทานที่เป็นในเรื่องของผู้คน เรื่องของสัตว์ เป็นอะไรที่ทำให้เด็กได้เกิดความรู้สึกตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เป็นออทิสติก.. เด็กกลุ่มนี้ไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของคน เพราะฉะนั้นถ้าเราเลือกนิทานที่เกี่ยวกับคน มันก็จะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจในเรื่องของความคิดนึกของคน เข้าใจจิตใจของคนได้ดีขึ้น แทนที่จะเป็นนิทานที่เป็นหุ่นยนต์อย่างนั้นก็ไม่ค่อยจะมีประโยชน์สำหรับเด็กออทิสติกเท่าไหร่

✅ สำหรับเด็กทั่วไปก็เหมือนกันนิทานเป็นของดี เรื่องการ์ตูนถามว่าดีไหม การ์ตูนก็เป็นของดีแต่อย่าหยุดเพียงที่การ์ตูนเท่านั้น

✅ มีเด็กหลายคนขึ้นมัธยมก็ยังเพียงอ่านการ์ตูนไม่เคยก้าวหน้าไปอ่านอย่างอื่นเลย จริงๆ แล้วตอนประถมปลายควรจะต้องอ่านสิ่งที่เรียกว่า วรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมเยาวชนแตกต่างจากการ์ตูน การ์ตูนเป็นถ้อยคำสั้นๆ ไม่ค่อยได้ให้ภาพที่ลึกพอเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของคน ไม่ค่อยมีการเล่าเรื่อง เพราะฉะนั้นเด็กที่อ่านการ์ตูนอย่างเดียว อาจจะเรียกว่าติดลบ แทนที่จะมีการพัฒนาของภาษาที่มันสละสลวย สามารถเล่าเรื่องได้เขาก็จะไม่พัฒนาเรื่องนี้

✅ มัธยมก็ควรจะอ่านเรื่องที่เป็นสารคดี เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ชาติ ในการเรียนรู้ การผิดพลาดแต่ก่อนมา ประวัติศาสตร์สอนให้เราเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง

แต่ที่สำคัญมากก็คือ การที่อ่านหนังสือที่มีเนื้อความพรรณณาหรือมีเนื้อความแบบเล่าเรื่องเหตุการณ์ มีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ มันจะทำให้เด็กเกิดภาษาที่สละสลวย และความสามารถในการที่จะเล่าเรื่องบรรยาย พรรณณาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการเรียนขั้นสูง เวลาอยู่ชั้นมัธยมเด็กก็จะต้องหัดที่จะเขียนรายงาน ทำโครงงาน เด็กหลายคนอาจจะต้องเขียนเรียงความ แล้วหลายคน เมื่อเขียนเรียงความเก่งก็สอบได้ทุน เพราะทุนเยอะมากที่จะต้องเขียนเรียงความที่มีเนื้อความที่ดีพอ

3. สำหรับการที่จะสอนลูกให้รู้จักคิด วิเคราะห์ คือพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่าง!

✅ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการที่จะคิด วิเคราะห์ด้วย พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการที่จะอยากทำอะไรที่มันลึกซึ้งพอ อยากที่จะคิดอะไรให้มันก้าวหน้าขึ้น อยากจะ Improve หรือว่าพัฒนา จากงานที่ทำได้ผลอย่างนี้ทำยังไงที่จะทำให้ได้ผลดีขึ้น ใช้วิธีคิด หาความรู้ เรียนรู้ เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่คิดเยอะในการที่จะทำอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น พ่อแม่อ่านหนังสือ พ่อแม่หาความรู้

👉🏼 เด็กก็จะติดนิสัยของการที่จะคิดมากขึ้น วิเคราะห์มากขึ้น พ่อแม่วางแผนในขีวิตประจำวัน พ่อแม่มีการเตรียมว่าวันแต่ละวัน จะใช้เวลาอย่างไร เด็กก็จะหัดเรียนรู้ว่าแต่ละวันควรจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เขาก็จะคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันได้เก่ง

การที่พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นเรื่องสำคัญมาก หลายบ้านมาบ่นว่าทำไมลูกไม่ค่อยอ่านหนังสือ อาจารย์ก็จะถามกลับว่า ลูกได้เห็นตัวอย่างการอ่านหนังสือจากพ่อแม่ไหม ลูกรับรู้ถึงความรู้สึกสนุกในการอ่าน ได้พัฒนาความรู้สึกรักในการที่จะอ่าน รักในการที่จะเรียนรู้จากพ่อแม่ไหม

หลายๆ บ้าน พ่อแม่ไม่ได้ทำสิ่งนี้ให้เห็น ลูกก็เลยไม่ค่อยเกิดความรู้สึกในการที่จะเรียนรู้ขึ้นมา อย่าลืมนะคะ ลูกปูก็เดินตามแม่ปูนะคะ เพราะฉะนั้นแม่ปูเป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้นค่ะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ทำไมลูกเรียนไม่ดี
ทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่ง เรียนดีขึัน

Similar Posts