หนีทุน ตอนที่ 1
ข่าวเรื่องการหนีทุนกำลังมาแรง อาจารย์ก็เคยเป็นนักเรียนทุนมาก่อน 30 กว่าปีมาแล้วอาจารย์ได้ทุนจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในยุคนั้นสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ยังเป็นสาขาใหม่ ไม่มีสอนในเมืองไทย อาจารย์ไปเรียนต่อในระดับหลังปริญญาเอก (postdoctoral) โดยมีอาจารย์รุ่นพี่เป็นผู้รับรอง ท่านพูดว่า “คุณพ่อของพี่สอนว่าอย่าไปค้ำประกันให้ใคร แต่พี่จะค้ำประกันให้หมอ พี่เชื่อว่าหมอจะกลับมา”
แล้วอาจารย์ก็กลับมาจริงๆ มาสอนที่จุฬาฯ แม้เงินเดือนจะน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่ไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม
ได้อ่านบทความจากวารสาร Scientific American Mind เรื่อง “Why we cheat.” หรือ “ทำไมเราโกง” เขียนโดย F. C. FANG ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และ A.CASADE VALL แห่ง Albert Einstein College of Medicine รู้สึกว่าน่าสนใจดี เลยอยากจะเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นแนวทางให้เราคิดออกว่าเราจะทำอย่างไรให้สังคมของเรามีการโกงน้อยลง
ในบทความนี้กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการโกงไว้หลายแง่มุม แต่ขอสรุปดังนี้การโกงเป็นสิ่งที่พบบ่อยมาก มีการสำรวจว่า ประมาณ 3 ใน 4 ของนักศึกษา 1,800 คนจาก 9 มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าตนเองเคยโกงข้อสอบ
ปัจจัยที่มีผลให้เกิดการโกงมี 3 ประการใหญ่
creativity การกลัวว่าจะสูญเสีย และการเห็นคนอื่นโกง
1. Creativity
ในแง่ของ creativity หรือความคิดสร้างสรรค์นั้น นักวิจัยพบว่า เกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่อยู่ผิวนอกสุดที่เรียกว่า neocortex สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ด้านภาษาและการคิดหาเหตุผล ผู้ที่มี neocortex ขนาดใหญ่และมีรอยหยักลึก จะมีความฉลาดแบบที่เรียกว่า social intelligence สูง มี creativity สูง และพวกนี้จะโกงหรือหลอกลวงเก่ง
2. การกลัวว่าจะสูญเสีย
การกลัวว่าจะสูญเสียเป็นแรงผลักดันให้บุคคลโกง ในวงวิชาการในต่างประเทศมีการโกงในแบบปลอมข้อมูลงานวิจัยเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นเพราะกลัวสูญเสียสถานภาพทางสังคม กลัวสูญเสียชื่อเสียงอันโด่งดังที่เคยสร้างมา หรือกลัวว่าจะไม่ได้รับทุนวิจัยต่อ เป็นต้น ในวงการกีฬาตัวอย่างที่เราทุกคนคงจำได้ก็คือ Lance Armstrong นักปั่นขวัญใจคนจำนวนมากที่โกงโดยใช้สารกระตุ้น ทำให้ชนะในการปั่นตูร์เดอฟรองซ์ถึง 7 ครั้ง
3. การเห็นคนอื่นโกง
การเห็นตัวอย่างเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนที่โกงนั้นรอดไปได้ โดยไม่ได้รับโทษอะไรเลยในแง่นี้การโกงเลยเป็นเหมือนโรคติดต่อ (นักการเมืองบ้านเราจึงโกงกันเยอะแยะ เพราะกฏหมายเราไม่เอาจริง)
แม้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือคุณธรรมที่เรามีจะเป็นเหมือนกำแพงกั้นเอาไว้ ทำให้เราคิดสักนิดก่อนจะโกง แต่หากใครคนหนึ่งทะลวงกำแพงไปได้ในครั้งแรก ก็จะมีครั้งที่2 ครั้งที่ 3 ได้ง่ายขึ้น และจากโกงเรื่องเล็กๆ ก็จะเป็นโกงในเรื่องที่ใหญ่ขึ้น
บ่อยครั้งที่คนโกงคิดว่าเขาไม่ได้ทำผิด เพราะเขาจะหาเหตุผลมาสนับสนุนพฤติกรรมขี้โกงของเขา (และมักจะหาเหตุผลได้เก่งเพราะฉลาดนั่นเอง!) พอหาเหตุผลมากๆ ก็จะเชื่อว่าเหตุผลนั้นถูกต้อง ในที่สุดคนที่โกงนั้นไม่ใช่เป็นเพียงโกหกคนอื่น แต่เขาโกหกตัวเองด้วย และที่แย่ก็คือเขาไม่รู้ว่าเขากำลังโกหกอยู่ !
การโกงเหมือนการติดเชื้อ ถ้าเราไม่หามาตรการหยุดมัน ในที่สุดมันจะลุกลาม เหมือนฝีเม็ดเล็กๆ ที่อาจลุกลามจนอักเสบไปทั้งตัว
ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านให้ข้อสรุปว่า
สังคมต้องจัดการกับการโกงหรือการหลอกลวงที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แม้เรื่องที่โกงหรือหลอกลวงอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็ควรเปิดเผยออกมา และมีบทลงโทษ เพื่อให้เจ้าตัวนั้นหลาบจำ และไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และที่สำคัญคือต้องสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในสังคมให้สูงขึ้น ลดการเน้นความเก่งความสำเร็จเฉพาะตัว แต่ให้ความสำคัญต่อการทำงานเป็นทีมและการร่วมมือกันมากกว่า
เห็นด้วยจริงๆกับบทความนี้
ดีใจที่มีผู้กล้า เปิดเผยเรื่องการโกง มาร่วมกันปั้นสังคมใหม่…….. ปั้นให้ดี