อาการของเด็กสมาธิสั้น

อาการของเด็กสมาธิสั้น ที่สำคัญ มี 3 ด้านใหญ่ๆ คือ
- ความบกพร่องของสมาธิ แสดงออกโดยอาการขาดสมาธิ เหม่อ หรือใจลอย
- ความบกพร่องของพฤติกรรม แสดงออกโดยอาการซนมากและอยู่ไม่นิ่ง
- ความบกพร่องในการคิดวางแผน แสดงออกโดยอาการทำก่อนคิดหรือหุนหันพลันแล่น
1. ความบกพร่องของสมาธิ
ความบกพร่องของสมาธิเป็นอาการที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ เด็กจะมีสมาธิไม่ดี (inattention) ไม่สามารถควบคุมและรักษาสมาธิไว้ได้นานพอ ไม่สามารถตั้งสมาธิให้สนใจสิ่งกระตุ้นที่สำคัญ
แต่จะไปสนใจสิ่งกระตุ้นที่ไม่สำคัญ เช่น ไม่สามารถตั้งสมาธิและฟังครูสอน แต่จะไปฟังเสียงรถที่กำลังแล่นอยู่ที่ถนนหน้าโรงเรียน หรือนึกถึงหนังสือการ์ตูนที่อยู่ในกระเป๋า
พ่อแม่และครูมักบ่นว่าเด็กวอกแวกง่าย เหม่อลอยหรือช่างฝัน อาการเหล่านี้จะเห็นชัดเจนเมื่อเด็กต้องทำงานที่ตนไม่ค่อยชอบ รวมทั้งงานที่น่าเบื่อหน่ายหรือต้องใช้เวลานาน งานที่มีลักษณะดังกล่าวก็คือการเรียนหนังสือนั่นเอง !
ปัญหาที่ตามมาจากการที่สมาธิไม่ดีคือ
เด็กไม่สามารถทำงานให้เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้ แต่จะทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เช่น ทำการบ้านเลขยังไม่เสร็จก็จะไปทำภาษาอังกฤษ หรือต่อจิ๊กซอว์ยังไม่เสร็จก็หันไปวาดรูป เป็นต้น
กว่าเด็กจะทำงานเสร็จสักอย่างก็ต้องใช้เวลานานกว่าเด็กทั่วไป เช่น กว่าจะทำเลขหนึ่งข้อเสร็จก็ใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่เด็กอื่นๆ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ดังนั้นการบ้านหรืองานที่ครูมอบหมายให้ทำก็มักจะไม่เสร็จตามกำหนดเวลาและเหลือค้างไปวันอื่นเสมอ
การมีสมาธิบกพร่องทำให้เด็กขี้ลืมและทำของหายบ่อย นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการทำตามคำสั่ง โดยเฉพาะคำสั่งที่ยาวและมีหลายขั้นตอน เช่น หากคุณแม่สั่งว่า ”เอาขวดนี้ไปเก็บที่ชั้น เสร็จแล้วไปหยิบจานมาใส่ขนมเอาไปให้คุณยาย” เด็กจะจำคำสั่งไม่ได้ และทำได้ไม่ครบถ้วนตามที่ผู้ปกครองสั่ง เช่น อาจเอาขวดไปเก็บที่ชั้นเท่านั้น หรือไม่ก็ไปหาคุณยายโดยไม่ได้เอาขนมไปด้วย
ผลก็คือ พ่อแม่คิดว่าลูกไม่สนใจคำสั่ง ดื้อ จะเอาแต่เล่น บางทีพ่อแม่อาจอารมณ์เสียและลงโทษเด็กอย่างแรงก็ได้
สิ่งที่พ่อแม่มักจะถามเสมอก็คือ
ทำไมลูกซึ่งไม่มีสมาธิในการเรียนและหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิบกพร่องนั้น สามารถนั่งดูโทรทัศน์และเล่นวีดีโอเกมได้นานเป็นชั่วโมงทีเดียว
คำตอบก็คือ สำหรับ ADD แล้ว โทรทัศน์และวีดีโอเกมเป็นสิ่งกระตุ้นที่เข้มข้น ทำให้เด็กตั้งสมาธิได้นาน แต่หนังสือหรือการบ้านเป็นสิ่งกระตุ้นที่อ่อนและน่าเบื่อ สามารถกระตุ้นความสนใจได้ไม่มาก
เด็กจึงมีสมาธิในการอ่านหนังสือหรือทำการบ้านได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น
2. ความบกพร่องของพฤติกรรม
เด็กจะมีอาการซน อยู่ไม่นิ่งและกระสับกระส่ายที่เรียกกันว่า hyperactive อาการนี้อาจสังเกตได้ตั้งแต่ยังเล็ก เด็กจะเป็นคนมี “พลัง”มาก เดินเก่ง วิ่งเก่ง ปีนป่ายไม่หยุด และชอบรื้อข้าวของ พ่อแม่อาจบอกว่าลูก “active มาก” “เหมือนติดเครื่องยนต์”
เด็กบางคนจะหยุดการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง การเล่น ก็ต่อเมื่อนอนหลับเท่านั้น ถ้าสั่งให้เด็กนั่งนิ่งๆ จะพบว่าเด็กทำไม่ได้ เด็กอาจจะนั่งนิ่งๆ ได้สัก 5 นาที เสร็จแล้วก็จะเริ่มขยับตัว ขยุกขยิก เอานิ้วมือแคะจมูกบ้าง จับเสื้อ ดึงถุงเท้า เกาตรงนั้นตรงนี้ บิดตัวไปมา กระสับกระส่าย เขยกเก้าอี้ไปมา แล้วก็จะลุกขึ้นเดินหรือวิ่งไปทั่วห้อง
อาการนั่งนิ่งๆไม่ได้ มักทำให้เกิดปัญหาเมื่อเข้าโรงเรียน เด็กจะอยู่ไม่สุขในห้องเรียน อาจลุกขึ้นเดินไปมาขณะครูสอน สะกิดเพื่อน ชวนเพื่อนคุย หรือเอาของเล่นออกมาเล่น บางคนจงใจจะทำของตกเพื่อจะได้ก้มลงเก็บบ่อยๆ บางคนอาจส่งเสียงดังออกมาในห้องเรียนรบกวนเพื่อนที่กำลังตั้งใจเรียนอยู่
พฤติกรรมดังกล่าวนี้ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนเกิดปัญหาไปด้วย ครูเองจะเอือมระอา มีทัศนคติเชิงลบต่อเด็กและทำโทษเด็กบ่อยๆ
3. ความบกพร่องในการคิดและวางแผน
เด็กจะมีความบกพร่องในการควบคุมตนเอง จะมีอาการทำก่อนคิด หุนหัน ขาดความยับยั้งชั่งใจ ( impulsivity ) และไม่รู้จักวางแผน อาการนี้สามารถเห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กอาจไม่ระวังในการเคลื่อนไหว ทำให้เดินชนคนหรือสิ่งของ และเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ
เมื่อนึกจะทำอะไรก็ทำลงไปทันที โดยไม่นึกว่าถ้าทำลงไปแล้วจะเกิดผลตามมาอย่างไร เด็กบางคนอาจเดินข้ามถนนโดยไม่ได้ดูซ้ายขวาให้ดี หรือบางคนวิ่งออกไปเพื่อจะเอาของเล่นที่วางอยู่อีกห้องหนึ่ง โดยไม่ทันดูให้ดีว่ามีประตูกระจกกั้นอยู่ ผลก็คือ เด็กวิ่งชนกระจกแตก ถูกกระจกบาดต้องเย็บแผลไปหลายเข็ม เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการหุนหันทำให้เด็กรอคอยไม่ได้ ถ้าต้องเข้าแถวรอนานเด็กจะหงุดหงิด อาจก่อกวนแถว แซงคิวผู้อื่น บางคนอาจตะโกนขึ้นมาในชั้นเรียนเพื่อตอบคำถามครู โดยที่ครูยังไม่เรียกให้ตอบ
เมื่อเด็กโตขึ้น ความบกพร่องด้านนี้จะแสดงออกมาในการทำงาน งานที่ต้องใช้การวางแผน กะระยะหรือวัดความยาว เช่น งานเขียนแบบหรือวิชาเรขาคณิต รวมทั้งงานที่ต้องใช้ความคิดและการวางแผนเป็นขั้นตอน เด็กจะทำได้ไม่ดี
แนะนำ หนังสือสร้างสมาธิให้ลูกคุณ และ หลักสูตรดูแลลูกสมาธิสั้น
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง