ปัญหาพิเศษ สมาธิสั้น ออทิสติก พัฒนาการช้า ฯลฯ

อาการออทิสติก

อาการออทิสติก

อาการออทิสติกเริ่มต้นเมื่อไร?

ตามเกณฑ์การวินิจฉัย อาการต้องเริ่มก่อนอายุ 3 ขวบ โดยทั่วไปในช่วงอายุน้อยๆ อาจไม่เห็นอาการผิดปกติ แต่พออายุขวบครึ่งถึงสองขวบ พ่อแม่จะสังเกตว่าเด็กมีความล่าช้าในภาษาและไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะพูดช้าและชอบเล่นคนเดียว

ในเด็กจำนวนมากเมื่อมองย้อนหลังไปจะพบว่ามีบางอย่างผิดปกติตั้งแต่ขวบปีแรก เช่น ไม่ค่อยมองตาเวลาที่แม่ให้นม หรือไม่ค่อยยิ้ม ไม่โผเข้าหาและไม่ร้องไห้เมื่อแม่เดินจากไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในเด็กที่อาการไม่รุนแรง ในช่วง 2-3 ปีแรกผู้ปกครองอาจมองไม่เห็นความผิดปกติใดๆ แม้จะพูดช้าไปบ้าง
ผู้ปกครองก็อาจคิดว่าเด็กเพียงแต่ “ปากหนัก” เท่านั้น

อาการเด็กออทิสติก

อาการทางสังคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

เด็กออทิสติกจะมีพัฒนาการทางสังคมที่บกพร่องค่อนข้างมาก โดยจะแสดงอาการได้หลายแบบดังนี้

  • ไม่มีการตอบสนองทางสังคมหรือไม่ค่อยมีปฏิกิริยาต่อผู้คนเหมือนเด็กปกติ
  • เรียกชื่อแล้วไม่ตอบสนอง พ่อแม่มักเล่าว่าลูก “ไม่หันตามเสียงเรียก”
  • ไม่ค่อยสบตา หลีกเลี้ยงไม่ยอมมองตา บางรายมองทางหางตาหรือเอา
  • มือปิดตาไม่ยอมมองคน
  • ไม่มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น (ไม่มี shared attention) เช่น จะไม่เข้าไป ร่วมดูสิ่งสนุกๆ
    กับพี่น้องหรือชี้ชวนให้พ่อแม่ดูสิ่งที่ตนสนใจ
  • ไม่สามารถแบ่งปันทางอารมณ์กับผู้อื่น พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่เล่าความรู้สึก
  • นึกคิดให้ผู้อื่นรับรู้หรือไม่ขอความช่วยเหลือทางอารมณ์จากผู้อื่น เช่น ไม่เข้าหาผู้ใหญ่เวลาร้องไห้ แต่จะยืนร้องอยู่คนเดียว
  • ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
  • ห่างเหินไม่เข้ามาคลุกคลีกับพ่อแม่ ในตอนเล็กๆ จะมีลักษณะไม่โผเข้าหา พ่อแม่ ไม่ยอมให้อุ้ม
    ไม่เข้ามาคลอเคลียแสดงความรัก
  • ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเด็กอื่น มักจะไม่มีเพื่อน
  • ชอบอยู่คนเดียว พ่อแม่มักเล่าว่าลูกชอบเล่นคนเดียว ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน
  • สนใจสิ่งของมากกว่คน หากเด็กออทิสติกอยู่ในห้องที่มีคนนั่งอยู่ด้วย เขาจะไม่สนใจคน ไม่ทักทาย ไม่เข้าไปหา
    แต่จะนั่งเล่นอยู่ตามลำพังราวกับ ไม่มีคนอยู่ในห้อง หากสนใจคนก็ไม่ได้สนใจจริงๆ แต่สนใจสิ่งของที่อยู่บน คนนั้นมากกว่า เช่น แว่นตา ลวดดัดฟัน ฯลฯ
  • เด็กมักทักทายผู้คนแบบ แปลกๆ เช่น เข้ามาดมกลิ่น มาดึงแว่นตา จ้องที่ฟัน
  • เอามือมาแตะตัว ฯลฯ บางรายเป็นแบบไม่กลัวใคร เข้ามาหาคนแปลกหน้าเหมือนคนคุ้น เคยหรือชอบให้ทุกคนอุ้ม

อาการทางภาษาและการสื่อสาร

  • พูดช้าหรือพูดไม่ได้เลย (ในที่นี้หมายถึงพูดภาษาปกติ)
  • ไม่สามารถเริ่มต้นบทสนทนากับผู้อื่นได้
  • ไม่สามารถต่อบทสนทนากับผู้อื่น เช่นพูดกันไปคนละเรื่อง
  • เงียบ ไม่พูดกับใคร
  • มีคำศัพท์เฉพาะตัวหรือมีภาษาแปลกๆ ที่เป็นภาษาเฉพาะของเด็กเองและ ผู้อื่นฟังไม่เข้าใจ
  • พูดคำซ้ำๆ ซากๆ เช่น อาจพูดคำโฆษณาในโทรทัศน์ซ้ำๆ
  • สื่อสารโดยใช้ท่าทางไม่เป็น (แตกต่างจากเด็กหูหนวกซึ่งสามารถใช้ท่าทางสื่อสารได้)
  • เมื่อต้องการอะไรจะขอหรือชี้ไม่เป็น แต่จะใช้วิธีดึงมือคนไปที่สิ่งนั้น
  • มักพูดเสียงเรียบเฉย ไม่มีระดับเสียงสูงๆ ต่ำๆ แบบคนทั่วไป
  • พูดซ้ำประโยคหรือข้อความที่ผู้อื่นพูดด้วย
  • ใช้ภาษาในรูปแบบแปลกๆ เช่น ใช้คำโดยที่ไมได้มีความหมายเหมือนที่
  • คนทั่วไปใช้กัน มีการสลับตำแหน่งของคำต่างๆ หรือมีโครงสร้างประโยคที่ผิด เช่น
    แทนที่จะพูดว่า “หมากัดนุ้ย” กลับพูดว่า “นุ้ยกัดหมา” เป็นต้น
  • เด็กบางคนมีพัฒนาการทางภาษาดีตามสมควร แต่ก็ไม่เข้าใจความหมาย ที่ลึกซึ้งหรือความหมายเชิงนามธรรม เช่น ไม่เข้าใจคำอุปมาอุปมัยหรือคำ พูดล้อเล่นของเพื่อน และใช้ภาษาไม่ถูกต้องตามกาลเทศะเหมือนเด็กปกติ

อาการทางอารมณ์และพฤติกรรม

  • มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่น้อยเกินไป เช่น เฉยเมย สีหน้าเรียบเฉยเวลาพูดคุย
  • บางครั้งมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรงเกินไป เช่น เวลาโกรธหรือไม่พอใจก็จะร้องกรี๊ดเป็นเวลานาน หรือร้องอย่างโหยหวนผิดธรรมดา
  • ชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น โยกตัว โบกมือไปมา ชอบดูโฆษณาทางโทรทัศน์หรือดูการ์ตูนซ้ำๆ
  • มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น หมุนตัว เดินเขย่ง วิ่งไปมาอย่างไร้จุดหมาย แต่บางรายอาจชอบนั่งเฉยๆ
  • มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง เช่น โขกหัวหรือกัดแขนตนเอง
  • มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างไม่แน่นอน เช่น เด็กบางคนอาจดูคล้ายคนหูหนวกเพราะไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก ไม่หันมาเมื่อพ่อแม่เรียกแต่พอ เอากุญแจมาเขย่าเบาๆ ข้างหลังเด็กจะหันมาทันที
  • ประสาทสัมผัสมีความไวมากเกินไป (hypersensitive) เช่น ไวต่อเสียง ทนเสียงปกติธรรมดา เช่น เสียงสุนัขเห่าหรือเสียงคนปิดประตูไม่ได้จะร้องไห้มากหรืออาละวาดเมื่อได้ยินเสียงดังกล่าว บางคนไวต่อการเคลื่อนไหวหรือการสัมผัสจับต้อง
    จะตกใจง่ายต่อสิ่งเร้าบางอย่างและร้องกรี๊ด หรือโวยวายเกินเหตุ
  • บางกรณีประสาทสัมผัสกลับมีความไวน้อยเกินไป (hyposensitive) เช่นไม่รู้สึกเจ็บปวด แม้เจ็บหรือมีบาดแผลก็ไม่ร้องไห้ ไม่รู้สึกหนาว-ร้อน ไม่รับรู้การสัมผัสของผู้อื่น
  • เหินห่างจากผู้อื่น ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ชอบเล่นคนเดียว
  • กลัวของบางอย่างโดยไม่มีสาเหตุ เช่น กลัวตุ๊กตา
  • ปรับตัวยาก ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในกิจวัตรประจำวัน เช่น มักทำกิจวัตรตามลำดับเดิม แต่งตัวตามลำดับขั้นเดิม เดินตามเส้นทางเดิมหรือทำตามตารางเดิมทุกวัน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนที่เคยทำ เด็กจะหงุดหงิดอาละวาด
  • ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น

แนะนำอ่านหนังสือ “ช่วยลูกออทิสติก” คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อคุณจะได้มีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับโรคออทิสติก และที่สำคัญคือเพื่อคุณจะได้รู้หลักการสำคัญในการช่วยเหลือลูกของคุณให้พัฒนาขึ้นและมีชีวิตได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ พร้อมด้วยเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการลูกซึ่งจากการวิจัยพบว่าเป็นวิธีช่วยเหลือที่ดีที่สุดเพื่อให้เด็กได้มีทักษะการสื่อสารและสังคมดีขึ้น
(ตอนนี้หนังสือหมดแล้ว มีเป็น E-Book นะคะ สนใจสั่งซื้อ คลิกที่นี่เลย!)

Similar Posts