เทคนิค 5 ข้อ คุยกันในบ้าน คุยกับครอบครัวอย่างไรให้มีความสุข?

เทคนิค 5 ข้อ คุยกันในบ้านอย่างมีความสุข
การที่เราได้นั่งคุยกัน ตั้งคำถาม หรือรับฟังซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่การทำให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปได้ดี ก็คือ การสื่อสารที่ดี การสื่อสารคืออะไร คือการที่เราเปิดใจกัน รับฟังกันและกัน
อาจารย์ก็อยากจะแนะนำพวกเรา 5 ข้อนี้
ถ้าเราจะคุยกันในบ้าน คุยกันในครอบครัวเราจะทำอย่างไร?
1. การฟังอย่างตั้งใจ
ซึ่งอันนี้สอนกันทั่วไปถ้าเราจะฟังใครคนหนึ่งให้ได้หัวใจของเขาเราต้อง active listening การฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ
2. ไม่แย่งกันพูด
ถ้าเราคุยกันหลายๆ คน หรือสองคนขึ้นไป เราต้องพูดทีละคน ไม่ใช่พอคนหนึ่งอ้าปากกำลังจะพูด ยังพูดไม่จบประโยค แล้วก็แซงขึ้นมาแล้วบอกว่าเราคิดอย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ต่างหาก อย่างนั้นไม่ใช่ ฟังเขาให้จบประโยคก่อน นั่นก็คือจะต้องใจเย็นๆ
3. ฟังอย่างใส่ใจ
หมายความว่า ฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ พิถีพิถัน ว่าตกลงเขากำลังจะบอกอะไร
ลูกกำลังจะบอกอะไร.. หรือสามีของฉันกำลังจะบอกอะไร.. ภรรยาของผมกำลังจะบอกอะไร..
การฟังอย่างใส่ใจเพื่อจะได้สกัดเอาเนื้อหาที่แท้จริง เพราะคนบางคนก็พูดน้ำท่วมทุ่ง แต่มีเนื้อหานิดเดียว แต่เนื้อหานั้นสำคัญ คนบางคนอาจจะตรงประเด็น แต่บางทีถ้าเราไม่ได้ฟังอย่างตั้งใจ เราก็ไปจับเอาภาพของหน้าที่บึ้ง สีหน้าแววตาที่ไม่ดี หรือว่าคำพูดที่มันไม่ค่อยจะ positive เท่าไหร่ แล้วเราก็จับตรงนั้นมาแล้วทำให้เราก็โกรธเปล่าๆ เพราะฉะนั้น ฟังอย่างตั้งใจว่าเขากำลังพูดว่าอะไร ความหมายของเขาคืออะไร ถ้าเราฟังไม่ตั้งใจ เราอาจจะเข้าใจผิด
4. ฟังอย่างเห็นใจ
อาจารย์คิดว่าคนที่เราต้องเห็นใจมกกที่สุดก็คือ คนในครอบครัว แต่บางครั้งมันก็ยาก อาจารย์ยอมรับจริงๆ ว่าไม่ใช่ง่ายที่เราจะเห็นใจคนในครอบครัวตลอดเวลาทุกๆ ครั้ง แต่อย่างน้อยเราพยายาม เมื่อเราคุยกับเขา เราต้องการที่จะสื่อ
เวลาเราคุยกับคนในครอบครัวเราต้องการสื่ออะไร เราต้องการสื่อความห่วงใย ความรัก ความเอาใจใส่ การที่ให้รู้ว่าฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ เพราะเราเป็นครอบครัว คำว่าครอบครัวหมายความว่า เราไม่ปล่อยใครคนใดคนหนึ่ง เราพร้อมที่จะช่วยดูแล ยกเว้นครอบครัวนั้นมีปัญหาเยอะจริงๆ ที่เราจะบอกว่า นี่เป็น toxic family ครอบครัวที่เป็นพิษอย่าเข้าไปใกล้ อย่างนั้นก็มี
แต่ครอบครัวโดยเฉลี่ยอยู่กันด้วยความรัก เพราะฉะนั้นฟังกันอย่างเห็นใจ เห็นใจหมายความว่า อย่าเพิ่งตำหนิบางบ้านคุณพ่อก็ชอบตำหนิ สามีก็ชอบตำหนิ ทำให้ภรรยาหมดกำลังใจ ทำให้ลูกหมดกำลังใจ เพราะฉะนั้นฟังอย่างเห็นใจว่าเขากำลังจะบอกอะไร เขามีความทุกข์ความลำบากอะไร ช่วยปลอบใจของเขา ช่วยให้เขามีกำลังใจมากขึ้น
5. อย่าตัดสินผิดถูก
สิ่งที่สำคัญมาก อย่าตัดสินผิดถูก ยกเว้นมันแย่จริงๆ คือ เวลาคนเราจะเล่าอะไรให้ฟัง ถ้าอีกคนมาตัดสินบอกว่า นั่นไม่ดี นี่ไม่ใช่หรอก ความคิดนี้ไม่ถูกต้อง อย่างนั้นก็ทำให้คนไม่อยากเล่า เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ฟังให้จบก่อน แล้วก็ไม่ตัดสินผิดถูก เพราะว่าแต่ละคนก็มีมุมมองของตัวเอง มีวิธีการคิดที่แตกต่างกัน มาจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มาจากการตกผลึกประสบการณ์ในชีวิต ความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน
เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งตัดสินผิดถูกยกเว้นผิดจริงๆ แต่ก็ที่จะบอกว่ามันผิด ฟังเหตุผลก่อน ถ้าเราฟังเหตุผล พอเขาได้เล่าเรื่องให้ฟังก็จะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น และในระหว่างกระบวนการที่เขาเล่าให้เราฟัง ความอัดอั้นตันใจ ความโกรธ อารมณ์ที่พุ่งก็จะลดลง ซึ่งการฟังแบบนี้ก็จะช่วยให้อีกคนจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น
สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการพูดคุยสื่อสารในครอบครัวก็คือ
การพูดคุยที่ดีจะทำให้เราเชื่อมโยงกัน เป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่น รักใคร่
จำเป็นมากที่คุณจะต้องหัดฟังลูก และฝึกการพูดคุยในบ้านให้ดี อาจารย์บอกเคสนึงว่าจำเป็นมากเลยที่หนูจะต้องหัดพูดคุยกับพ่อแม่ เพราะว่าในชีวิตของหนูที่จะโตขึ้นมานั้น หนูจะเจอกับสิ่งที่เป็นปัญหาความทุกข์ ความยากลำบาก ถ้าหนูไม่หัดคุยกับพ่อแม่ หนูก็จะขอความช่วยเหลือไม่เป็น หนูก็จะบอกเขาไม่เป็นว่าหนูมีความทุกข์อะไร พอคนเราบอกอีกคนไม่เป็น ซึ่งอีกคนคือ พ่อแม่ที่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ เราก็จะไปคิดอยู่คนเดียว ก็ทำให้ความตึงเครียดในตัวเองสูง หรือไม่เราไปบอกเพื่อน คุยกับเพื่อน แต่เพื่อนเองก็ไม่ได้มีสติปัญญามากมาย หรือประสบการณ์ชีวิตมากมายที่จะช่วยเรา
คนที่เราไว้ใจได้มากที่สุดก็คือ พ่อแม่ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็พยายามที่จะหัดรับฟังลูก แล้วหนูก็จะต้องหัดคุยกับพ่อแม่ด้วย
การพูดคุยกันที่ดีพอ จะทำให้ความตึงเครียดในชีวิตหายไป ทำให้เราไม่มีอาการเจ็บป่วยทางกายด้วย เพราะหลายคนเก็บความตึงเครียดในชีวิตเอาไว้ ในตัวเอาไว้ แล้วออกมาเป็นอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะตาย บางทีอาจจะท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการของความวิตกกังวล ความเครียดทั้งนั้นเลย
เพราะฉะนั้นถ้าได้พูดคุยกัน ก็จะลดความทุกข์ใจ ทำให้เราสามารถมองเห็นวิธีแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ทำให้สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ที่สำคัญมากมันช่วยในการเชื่อมโยงและการเป็นครอบครัวที่อบอุ่นรักใคร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก
อาจารย์คิดว่ายุคนี้ การพูดคุยกันน้อยมาก แล้วต่างคนต่างก็ดูมือถือของตัวเอง เขาเรียกว่า eye to eye contact หรือการมองตาก็ไม่มี การที่จะเงยหน้าที่จะรับฟังอีกคนหนึ่งก็ไม่มี เราขาดทักษะการพูดคุยกันอย่างมากเลย เขียนสั้นๆ ไปในไลน์ แม้ว่าจะดีก็ตามแต่มันไม่ได้ทำให้เกิดความกระจ่างช้ด แล้วบางครั้งเราก็เข้าใจผิดกันทางไลน์ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นขอให้เราพยายามที่จะเสริมสร้างการพูดคุยกันในบ้านให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตครอบครัวจะได้มีความสุขขึ้น และที่สำคัญมากจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ เมื่อมีความทุกข์เขาหันไปหาคนในครอบครัวได้
ขอแนะนำหนังสือ “เซตสร้างลูก” ประกอบไปด้วย 3 เล่ม
สร้างวินัยให้ลูกคุณ
สร้าง EQ ให้ลูกคุณ
ปัญหาการเรียนและเทคนิคช่วยให้ลูกเรียนดี

และหากคุณพ่อคุณแม่อยากเสริมสร้างสมาธิให้ลูกด้วยเทคนิคง่ายๆ ขอแนะนำ E-Book สร้างสมาธิให้ลูกคุณ (ฉบับปรับปรุงใหม่)