วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด..

ลูกไม่ใช่ผู้ใหญ่ในร่างเด็ก เขาก็มีโอกาสทำผิดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเรา ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ หรือบางครั้งก็อาจต้องการความสนใจจากเรา แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้คือ สอนให้เขารู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ผิดหรือถูก และรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังเข้าใจอะไรไม่ได้มากนัก แล้วเราจะสอนเขาอย่างไรดี
วันนี้มีแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันค่ะ
เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่มีวิธีสอนลูกอย่างไรกันบ้างคะ?
เวลาลูกทำผิด พ่อแม่หลายคนไม่กล้าบอกลูก ไม่กล้าคุยกับลูกตรงๆ ปล่อยให้ความผิดผ่านไป..
เหตุผลน่ะหรือ?
- กลัวลูกเสียความรู้สึก
- ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญพอ
- ไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ช่างจับผิด
- กลัวว่าจะเสียความสัมพันธ์
- กลัวว่าลูกจะโกรธ ฯลฯ
ขอบอกอย่างชัดเจนตรงนี้ว่า ทั้งหมดนี้คือความเข้าใจผิดและจะทำให้เกิดผลเสียในอนาคต❗️
เวลาลูกทำผิดหรือทำในสิ่งที่คุณคิดว่าไม่สมควร (บางเรื่องไม่มีผิด ไม่มีถูก มีแต่ความควรหรือไม่ควร)
คุณจะต้องบอกลูกอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา
เพราะเด็กๆยังตัดสินใจไม่ค่อยเก่ง ยังไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีอย่างชัดเจนลึกซึ้งและยังคิดไม่เป็น
(พัฒนาการทางความคิดหรือ Cognitive Development ยังไม่ก้าวไกลพอ)
บางเรื่องไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรือเป็นความชั่วร้าย แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เรื่องสีเทา
แบบนี้แหละที่พ่อแม่ควรจะต้องบอกอย่างชัดเจนว่าควรทำหรือไม่ควรทำ
แล้วจะพูดกับลูกอย่างไรล่ะ?
- ก็พูดอย่างสงบ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่โกรธ ไม่ตำหนิ
- พูดอย่างมีเหตุผล พูดด้วยใจนิ่ง พูดด้วยความเมตตาและรับฟังในเหตุผลของลูกด้วย
- ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ดูแลลูกมาอย่างดี ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ได้เป็นคนขี้โมโหอารมณ์เสีย รับรองได้เลยว่าการบอกลูกอย่างชัดเจนด้วยความสงบจะไม่ทำให้ความสัมพันธ์เสียไปและจะไม่ทำให้เด็กรู้สึกแย่
- ลูกอาจจะรู้สึกแย่ในตอนต้นเมื่อคุณบอกเขา แต่ความรู้สึกแย่แบบนั้นมักเกี่ยวกับความเสียใจที่เขาทำในสิ่งที่คุณไม่ยอมรับมากกว่าที่จะรู้สึกแย่เกี่ยวกับตัวคุณ!
เมื่อคุณบอกลูกอย่างชัดเจนว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
ความชัดเจนนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้กับลูก
และจะเป็นเครื่องชี้นำลูกที่คุณรัก ในการใช้ชีวิตในอนาคต
โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ❤️
คาถาประจำวัน : อย่ากลัวที่จะบอกลูก!
แนะนำอ่านหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” และหลักสูตรออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี”