บทความเกี่ยวกับสังคม | บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น

เมื่อลูกทำผิด

ลูกทำผิด

ขอยกย่องม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี


ที่ออกมายอมรับในความผิดพลาดของลูกชาย และความผิดพลาดของตนเองในการเลี้ยงลูก
จริงๆ ท่านอาจเพียงยอมรับในความผิดพลาดของลูกชายก็พอ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเป็นความผิดของตนเองด้วย

แต่นี่คือตัวอย่างของความรับผิดชอบ

สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ มันไม่ใช่ง่ายที่เราจะยอมรับว่าลูกทำผิด
หากเป็นความผิดที่เกิดขึ้นแค่ในบ้าน นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เราสามารถชี้ให้ลูกเห็นว่า เขาทำผิดนะ
แต่หากเป็นความผิดที่กระทำต่อคนอื่นหรือมีผลกระทบต่อสังคมแล้วล่ะก็ มันยากมากที่จะยอมรับว่าลูกทำผิด (มีกรณีเยอะมากที่ลูกไปรังแกเด็กอื่น แต่พ่อแม่ไม่รับรู้ แถมบอกว่า เด็กที่ถูกรังแกน่ะมีปัญหา ไม่ใช่ลูกฉัน!!!)

เพราะการยอมรับนั้นเท่ากับบอกว่าตนเป็นพ่อแม่ที่บกพร่อง

คนเราทุกคนอยากมองว่าตนเองดีพอ เราต้องการมีความนับถือตนเองสูงพอ มีความชื่นชมตัวเอง (self-esteem) ที่มากพอ
เมื่อต้องยอมรับในความผิดของตนเอง หลายคนทำไม่ได้ เพราะตัวตน(self) นั้นไม่มั่นคง รู้สึกเปราะบางในตนเอง จึงต้องพยายามยึดภาพอันสวยงามของตนและปฏิเสธความผิดพลาดของตนเอง

คนที่สามารถยอมรับผิดได้ แปลว่า เขามีตัวตนที่มั่นคง ทั้งไม่หลงตัวเอง สามารถวางอีโก้ของตัวเองลง กล้าที่จะให้ผู้อื่นมองเห็นความไม่สมบูรณ์แบบของตน บุคคลแบบนี้คือผู้กล้าหาญโดยแท้

การที่พ่อแม่กล้าตำหนิว่าลูกทำผิด

ในอีกแง่หนึ่ง การที่พ่อแม่กล้าตำหนิว่าลูกทำผิดนั้น แสดงถึงความรักลูก ยิ่งกว่ารักตัวเอง เมื่อพ่อแม่บอกว่าลูกทำผิด เขาเสี่ยงต่อการที่ลูกจะไม่ชอบเขา เสี่ยงต่อการที่ความสัมพันธ์พ่อแม่-ลูกจะมีปัญหา เสี่ยงต่อการที่ทำให้ภาพลักษณ์แห่งตน (self-image) ของลูกสั่นสะเทือน (เด็กบางคนก็เปราะบางมาก ยอมรับคำตำหนิแทบไม่ได้) แต่เขาก็ไม่อยากเห็นชีวิตของลูกลงเหว เพราะถูกปล่อยให้ทำผิดโดยไม่ว่ากล่าวตักเตือน

การศึกษาศีลธรรมจรรยาในเด็กพบว่า เด็กที่เติบโตมาอย่างมีเหตุผล มีศีลธรรมจรรยาและรู้ว่าอะไรควร-ไม่ควรนั้น พ่อแม่มักจะใช้เวลานั่งลงคุยกับลูก อธิบายถึงเหตุ-ผลของการกระทำต่างๆ และพ่อแม่เองจะยอมรับเวลาตนเองทำผิด การยอมรับว่าตนเองไม่สมบูรณ์แบบ มีความบกพร่อง ผิดพลาดได้ จะช่วยให้เด็กกล้ายอมรับความจริงและยอมรับตัวเอง เป็นคนที่มีความมั่นคงในตนเอง และมีความจริงใจ ไม่เสแสร้ง (ทางจิตวิทยาเรียกว่า ไม่สร้าง false self ขึ้นมา)
วันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้สร้างแบบอย่างให้กับพ่อแม่ว่า การยอมรับความบกพร่องความผิดพลาด เป็นสิ่งที่ทำได้ และสมควรทำ

ที่สำคัญ ท่านได้สร้างแบบอย่างของผู้ใหญ่ในสังคมที่เมื่อรู้ว่าสิ่งใดผิด-สิ่งใดถูก ก็กล้าบอกออกมาอย่างชัดเจน

ท่านได้สอนเราผู้เป็นพ่อแม่ว่าจงมีความรับผิดชอบ ยอมรับผิดเมื่อตนเองทำผิด และ

ชื่อเสียงนั้นไม่สำคัญเท่าการมีจิตสำนึกที่ใสสะอาด

แนะนำบทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี” และอ่านหนังสือ “สร้าง EQ ให้ลูกคุณ”

Similar Posts