บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น | บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก

เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน

เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน

เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณตั๊ก มยุรา เศวตศิลา เกี่ยวกับเรื่องราวในครอบครัวและการเลี้ยงลูกของเธอ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแล้วรู้สึกว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับพ่อแม่อีกมาก จึงขออนุญาตคุณตั๊ก แสดงความเห็นในฐานะที่เป็นจิตแพทย์เด็กสักเล็กน้อย

จะขอหยิบสิ่งที่คุณตั๊กพูดมาบางประเด็นดังนี้ค่ะ

1. “พี่เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน เลี้ยงมาอย่างดีที่สุด”

ความเห็น : ในวัย 1-3 ขวบปีแรก พ่อแม่จำเป็นจะต้องดูแลลูกแบบไข่ในหิน เพื่อความปลอดภัย เพราะเด็กเล็กมีความเปราะบาง แค่คุณไม่ได้มองเพียง 1 นาทีเขาอาจจะหกล้มหงายหลังเลือดออกในสมองยังได้เลย แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น คุณต้องเอาไข่ออกจากหินบ้าง มิฉะนั้นไข่นี้จะเปราะและแตก กล่าวคือต้องให้ลูกออกมาเผชิญกับความผิดหวัง ความลำบาก ความไม่พอใจ ความไม่สนุก รวมทั้งน้ำตาด้วย เป็นครั้งคราว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งความอดทนให้เกิดขึ้นในชีวิตที่เรียกว่า resilience

2. “นี่มันเป็นเคสศึกษาจริงๆว่าทำไมสอนมาดีแล้วยังเกิดเรื่อง”

ความเห็น : มีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูก นอกเหนือไปจากตัวเราในฐานะพ่อแม่แล้ว ก็มีตัวลูกเอง สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเพื่อนฝูงและโรงเรียน และสังคมที่เราเติบโตขึ้นมา สำหรับตัวลูกเองนั้นมีทั้งปัจจัยทางชีวภาพ และบุคลิกภาพ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ก็มีผลอย่างมากทีเดียว สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ว่าการเลี้ยงลูกก็เหมือนยิงธนู แม้เราจะเล็งอย่างดีที่สุดและเหนี่ยวเต็มแรง แต่ก็อาจจะพลาดเป้าได้ ทั้งนี้เพราะมีกระแสลมพัดมา ทำให้ลูกธนูเบี่ยงเบนไป กระแสลม ก็คือปัจจัยอื่นๆที่นอกเหนือไปจากความตั้งใจดีและความพยายามของพ่อแม่นั่นเอง

3. “การที่บอกลูกระวังอย่างนั้นอย่างนี้มันผิด…ผิดที่สอนเขา แต่ไม่ได้ให้เขาเรียนรู้จากชีวิตจริง”

การเลี้ยงลูก แบบคอยระมัดระวังมาก (overprotect) และคอยบอกแทบทุกก้าวจะทำให้เด็กขาดประสบการณ์ในการตัดสินใจตอนเล็กๆเรื่องที่ต้องตัดสินใจไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ แต่เมื่อโตขึ้น มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นและหลายเรื่องที่ต้องตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อลูกไม่มีทักษะในการตัดสินใจ (เพราะไม่เคยถูกฝึกให้ตัดสินใจเอง) โอกาสที่จะตัดสินใจพลาดก็มีสูง อันที่จริงแล้วการตัดสินใจเป็นทักษะ -skill ทักษะหมายถึงสิ่งที่ยิ่งทำก็จะยิ่งเก่ง ยิ่งชำนาญ ดังนั้นถ้าเราเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจในเรื่องเล็กๆที่ไม่สลักสำคัญในตอนเป็นเด็ก เขาก็จะตัดสินใจเก่งขึ้นเรื่อยๆ

4. “สุดท้ายเขาไปเลือกผู้ชายที่เราคาดไม่ถึง…. เขาจะเอาแบบนี้ หนูจะเลือกของหนูเอง”

ความเห็น : เด็กที่ถูกบอกทุกฝีก้าวหรือไม่มีโอกาสตัดสินใจเองในช่วงวัยเด็กนั้น เมื่อโตเป็นหนุ่มสาว จะปรารถนาความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ในแบบที่มากกว่าเด็กทั่วไป ดังนั้นอาจจะแอบตัดสินใจทำบางอย่างโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ หรือดึงดันที่จะตัดสินใจแม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงและอาจผิดพลาด ความต้องการเป็นตัวของตัวเองอาจจะบดบังการมองเห็นความจริงในสถานการณ์นั้นๆ และทำให้ตัดสินใจผิดได้

5. “พี่อาจจะศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกมาน้อยเกินไป…เลี้ยงตามสัญชาตญาณ…ถ้าเราเปิดหนังสืออ่านตามสูตรบ้างมันก็จะดี”

ความเห็น : การเลี้ยงลูกไม่อาจจะทำตามสัญชาตญาณอย่างเดียว จะต้องมีความรู้ด้วย ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยมากมายเกี่ยวกับการเติบโตและพัฒนาของคนเราว่าต้องอาศัยอะไร และจะเติบโตไปได้ดีนั้นต้องทำอย่างไร เราควรหาความรู้ส่วนนี้มาเป็นฐานรากในการเลี้ยงดูลูก และใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจเรื่องที่ตำราไม่ได้บอกไว้ หากสัญชาตญาณตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ก็น่าจะผิดพลาดไม่มากเท่าไร

6. “เขาอยู่กับเพื่อนมากกว่าอยู่กับเรา”

ความเห็น : คนทั่วไปมักคิดว่าในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เพื่อนจะมีอิทธิพลมากกว่าพ่อแม่ แต่งานวิจัยพบว่าไม่ใช่ แท้จริงแล้วพ่อแม่ยังเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากอยู่ แต่ถ้าขาดการใช้เวลาร่วมกันขาดการเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ที่ดี อิทธิพลของพ่อแม่ก็จะน้อยลง ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงกับลูก สร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นเพียงพอ เพื่อคงอิทธิพลของตัวคุณเอาไว้ การศึกษาพบว่าเด็กที่อยู่กับเพื่อนมากกว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรม

7. “ถ้าเขาเชื่อเราตั้งแต่แรกมันก็จะไม่เป็นแบบนี้”

ความเห็น : คนบางคนไม่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีง่ายๆ ธรรมดาแต่ “learn the hard way” คือเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาด นั่นก็เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งของชีวิต ซึ่งอาจจะดีในแง่ที่ว่า เราเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและจำได้แม่นยำเพราะมันเป็นการเรียนรู้ด้วยความเจ็บปวด การที่ลูกเรียนรู้วิธีนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ดี เพียงแต่บทเรียนนี้ แลกด้วยน้ำตาเท่านั้นเอง แต่ก็อาจจะเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าในชีวิตของเขา ดังนั้นพ่อแม่ที่ลูกต้องเรียนรู้แบบนี้ก็อย่าเสียใจมากเกินไป

8. “มันผ่านมาแล้ว เรากลับไปปั้นใหม่ไม่ได้แล้ว”


ความเห็น : นี่เป็นความจริงที่เจ็บปวดสำหรับพ่อแม่เมื่อลูกผิดพลาดไปในแบบที่แก้ไขไม่ได้ จากนี้ไปสิ่งที่คุณควรทำก็คืออย่าให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง คุณอาจจะเข้าไปยุ่งมากไม่ได้ แต่คุณสามารถให้กำลังใจและช่วยเหลือเขาตามสมควร ให้โอกาสเขาก้าวเดินไปเอง เมื่อเขารู้สึกอ้างว้างไม่มีใคร เขาหันหลังมาก็จะพบคุณยืนอยู่ตรงนั้นเพื่อเขา
นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะทำได้ เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

หากใครมีประสบการณ์แบบคุณตั๊ก อาจารย์ก็จะบอกว่า อย่ารู้สึกผิดมากเกินไป อย่าโทษตัวเองมากเกินไป คุณได้พยายามทำอย่างดีที่สุดเท่าที่คุณจะหยั่งรู้ได้ ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่เคยทำพลาด จงยกโทษให้ตัวเองและก้าวต่อไป จงเป็นปู่ย่าตายายที่ดีของหลานและเป็นพ่อแม่ที่ลูกจะพึ่งได้เสมอ

ขอขอบคุณคุณตั๊กสำหรับบทสัมภาษณ์ที่จริงใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
อยากเลี้ยงลูกให้ดี อาจารย์ขอแนะนำ หลักสูตรออนไลน์ เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี
และอ่านหนังสือ “เซตสร้างลูก”

Similar Posts