บทความเกี่ยวกับสังคม

เห็นครูทำร้ายเด็กสะเทือนใจแล้ว แต่ครูยืนเฉยสะเทือนใจกว่า (bystander effect)

ครูทำร้ายเด็ก

มีหลายคนถามมาใน inbox ว่าทำไมครูจึงยืนเฉย? ตอนแรกที่ดูวีดีโออาจารย์ก็สงสัยเหมือนกัน ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า ครูกระชากเด็กผลักเด็กก็หดหู่ใจพอแล้ว แต่ที่ครูหลายคนยืนเฉยราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น หดหู่ใจยิ่งกว่า

ทำไมจึงยืนดูเฉยๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง ห้ามปรามหรือช่วยเหลือเด็ก?

ก่อนจะสรุปว่าทำไม จะขอเล่าเรื่อง bystander effect ให้ฟังก่อน

Bystander Effect คืออะไร

คำว่า bystander แปลว่า ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น ตัวอย่างเช่น เรายืนอยู่ตรงนั้นในขณะที่กำลังมีคนถูกทำร้าย เป็นต้น

หลายปีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกฆาตกรรมเธอส่งเสียงร้องให้ช่วย มีคนได้ยินเสียงร้องหลายคนแต่ไม่มีใครช่วยเธอเลย เธออาจรอดชีวิตมาหากมีคนตัดสินใจเข้าไปช่วย หลังจากนั้นก็มีอีกหลายกรณีที่ผู้คนเพิกเฉย เช่น เด็กสาวที่เมาไม่รู้เรื่องและถูกหิ้วปีกไปข่มขืน หลายคนมองเห็นเธอถูกหิ้วไป แต่กลับนิ่งเฉย และอีกกรณีหนึ่งคือผู้ชายคนหนึ่งตกลงไปในรางรถใต้ดิน (ข่าวว่าถูกผลัก) และคนก็มัวถ่ายรูปเขาจนนาทีสุดท้ายที่เขาถูกรถไฟทับเสียชีวิต

สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิจัยสงสัยว่าทำไมคนจึงนิ่งเฉยไม่เข้าไปช่วยผู้ที่กำลังได้รับอันตราย

นักวิจัยพบว่า หากมี bystander หรือคนที่เห็นเหตุการณ์ อยู่ตามลำพังคนเดียว โอกาสที่เขาคนนั้นจะเข้าไปช่วยเหลือ จะมากกว่ามี bystander หลายคน

bystander effect (หรืออีกคำหนึ่งว่า bystander apathy -apathy แปลว่าปราศจากความรู้สึกเห็นใจ หรือไม่รู้สึกรู้สม) คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนในกลุ่มไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยคนที่กำลังอยู่ในอันตราย

นักวิจัยอธิบายว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้คนนิ่งเฉย


1. division of responsibility

คือ คนเห็นเหตุการณ์แต่ละคนต่างก็คิดว่าคนอื่นจะรับผิดชอบเข้าไปช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นตนเองก็ไม่ต้องทำอะไร เข้าทำนอง “เดี๋ยวก็มีคนมาช่วยเองแหละ!”

2. evaluation apprehension

คือคนจะกังวลถึงผลลัพธ์เชิงลบที่ตนจะได้รับหากเข้าไปช่วย เช่น “ถ้าเข้าไปช่วย ดีไม่ดี ฉันอาจถูกตำรวจตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ร้ายเสียเอง”

3. คนกลัวว่าตนอาจเข้าใจผิดว่าสถานการณ์นั้นอันตราย

แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เช่น เราได้ยินคนร้องเสียงหลง แล้วคิดว่าเขาถูกทำร้าย แต่ปรากฏว่าเขาร้องเล่นสนุกกับเพื่อน แบบนั้นถ้าเราทะเล่อทะล่าเข้าไปช่วย เราก็หน้าแตกไปเลย!

4. คนที่เห็นเหตุการณ์ไม่คิดว่ามันกำลังเป็นอันตรายเพราะคนอื่นก็ไม่ได้ตื่นตกใจ

แต่กำลังหัวเราะ พูดคุย ถ่ายรูป หรือกำลัง พิมพ์มือถืออยู่ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นต้น ผู้คนรอบข้างทำให้เราประเมินว่าไม่มีอะไรที่เป็นอันตราย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งปกติธรรมดา ยอมรับได้ หรือทุกอย่างเรียบร้อยดี (ลักษณะนี้เรียกว่า pluralistic ignorance -ต้องอธิบายยาว ถ้าสนใจต้องค้นเองนะคะ)

ที่เล่ามานี้อาจดูเหมือนว่า มนุษย์เราช่างเลือดเย็นจริงๆ
แต่ไม่ใช่นะ

นักวิจัยพบว่า เราอาจหลงเหลือความเป็นมนุษย์ผู้มีใจกรุณาอยู่บ้าง หากเหตุการณ์นั้นเป็นอันตรายอย่างชัดเจนหรือรุนแรงมากๆ จนไม่อาจที่จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปได้และหากคนที่เข้าไปช่วยจะเกิดอันตรายได้ bystander effect จะหายไป!

ได้ยินข้อนี้แล้วค่อยใจชื้นหน่อย…

การที่ครูคนอื่นนิ่งเฉย อาจารย์คิดว่า bystander effect ก็คงเป็นคำอธิบายส่วนหนึ่ง แต่มีคำอธิบายอีกสองข้อร่วมด้วย

คำอธิบายส่วนที่สองของการที่ครูคนอื่นยืนเฉยเมื่อครูทำร้ายเด็ก นั่นคือ

1. เกิดกระบวนการ habituation

คือ เมื่อเห็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งบ่อยๆ สมองเกิดความชาชิน ไม่รู้สึกรู้สมกับมัน
คือ ไม่sensitive กับมันแล้ว ดังเช่นเด็กที่เล่นวีดีโอเกมรุนแรง แรกเริ่มอาจจะรู้สึกกลัว แต่พอเห็นภาพรุนแรงบ่อยๆก็จะรู้สึกชาชินและไม่กลัวในที่สุด

ครูหลายคนคงเห็นการทำรุนแรงกับเด็กบ่อยครั้งจนเป็นความเคยชิน จึงยืนนิ่ง ไม่เข้าไปห้ามปราม!

2. การที่ไม่มีการลงโทษครูที่ทำผิดตั้งแต่แรก เท่ากับเป็นการปล่อยให้ครูที่ทำผิดได้แรงเสริมจากการทำรุนแรง

หมายความว่า ครูคนนั้นได้มีทางระบายความเครียดของตน ได้ถูกมองว่าเป็นคนที่มีอำนาจ ใครๆก็ต้องกลัว นี่คือการให้แรงเสริม หรือ reinforcement จึงทำให้พฤติกรรมเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องและมีครูคนอื่นเอาแบบอย่าง

มันก็คล้ายๆกับมีโจ๋คนหนึ่ง เดินกร่างเข้าไปหยิบของในร้านสะดวกซื้อ แล้ว ทุกคนก็กลัว ไม่กล้าทำอะไร ตำรวจก็ไม่จับ ปล่อยให้กร่างอยู่ได้ทุกวัน เชื่อไหมว่า โจ๋คนนี้จะกร่างมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีโจ๋ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายคน

เวลาคนทำผิดแล้วไม่เข้าไปจัดการจริงจังก็จะเป็นอย่างนี้แหละ (อันนี้เป็นปัญหาทุกระดับในสังคมไทยนะ คือไม่บังคับใข้กฎหมายอย่างจริงจัง)

เรื่องราวของโรงเรียนดังแห่งนี้ขอสรุปว่าเป็นปัญหาที่ระบบบริหารจัดการมีความบกพร่องแบบสุดๆ ตั้งแต่นโยบายที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการดูแลเอาใจใส่เด็กที่ดีพอ

ถ้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็คงคัดเลือกคนที่มีคุณภาพเข้ามาดูแลเด็ก คงจะสอดส่องดูแลการเรียนการสอนและพฤติกรรมของครูอย่างสม่ำเสมอ คงไม่เพิกเฉยเมื่อมีกรณีครูทำร้ายเด็กตั้งแต่ครั้งแรก คงจัดการจริงจัง ไม่ปล่อยให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่เพาะบ่มความรุนแรงขึ้นมาแบบนี้

แล้วทำไมผู้บริหารถึงเพิกเฉย ไม่สนใจที่จะสร้างสิ่งดีๆขึ้นมา แถมยังปล่อยให้สิ่งเลวร้ายงอกงาม?

เรื่องนี้มีคำอธิบายจากงานวิจัย
อ่านต่อได้พ่อแม่ทำร้ายลูกมากกว่าครู

Similar Posts