บทความเกี่ยวกับสังคม

แสงแห่งความหวัง ที่เคยริบหรี่ ได้ลุกโชติช่วงอีกครั้ง

แสงแห่งความหวัง

เมื่อวานนี้ตอนสอนหนังสือเสร็จ คุณหมอลูกศิษย์คนหนึ่งถามว่า “ผมไม่เข้าใจที่อาจารย์โพสต์ ว่า วันนี้ แสงแห่งความหวัง ที่เคยริบหรี่ ได้ลุกโชติช่วงอีกครั้ง ‘วันนี้’ มันเกิดอะไรขึ้นครับ และความหวังเรื่องอะไรที่กลับคืนมาล่ะครับ?”
เดาว่าคงมีหลายคนที่ไม่เข้าใจ เพราะอาจารย์โพสต์สั้นๆ
จริงๆ แล้วมันเหมือนกับการรำพึงในใจมากกว่า


เรื่องมันเกิดขึ้นในห้องน้ำ อาจารย์ไปเจอคุณแม่ของคนไข้ในห้องน้ำ เธอบอกว่า “ชอบที่อาจารย์โพสต์อธิบายเรื่องจริยธรรม มันสำคัญจริงๆนะคะ” อาจารย์ก็ตอบไปว่า “ขอบคุณค่ะที่อ่านโพสต์” แต่ในใจก็นึกว่า มันคงไม่มีความหมายหรอก ไม่ว่าผู้คนจะเรียกร้องยังไง มันก็คงไม่มีผลอะไรหรอก
แต่ก่อนที่เธอจะออกไปจากห้องน้ำ เธอพูดว่า “อาจารย์รู้แล้วใช่ไหมคะว่า เขาประกาศลาเวทีแล้ว”
วินาทีที่ได้ยินประโยคนี้ อาจารย์รู้สึกว่าหัวใจมันสว่างวาบขึ้นมา

อาจารย์เคยรู้สึกหมดหวังในสังคมไทย…
มันเป็นอะไรที่ค่อยๆสะสม มันอาจเริ่มจากการไปประชุมที่ต่างประเทศ เวลามีงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม นักวิจัยจากชาติต่างๆก็ทักทายไต่ถามกันว่า มาจากไหน พอเราแนะนำตัวว่ามาจาก Bangkok, Thailand คนก็จะพูดว่า ผมเคยไปกรุงเทพฯ มาแล้ว เคยไปพัฒพงษ์ พัทยา แล้วก็ถามต่อถึงเรื่องโสเภณี เรื่องอบายมุขต่างๆ เรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก และเรื่องคอร์รัปชั่น ตัวอาจารย์เองรู้สึกหน้าหดเหลือเล็กนิดเดียว เวลาขึ้นไปเสนอผลงานวิจัยและต้องฉายสไลด์ แล้ว รู้สึกแย่ ไม่อยากจะบอกเลยว่ามาจากเมืองไทย นี่เป็นความรู้สึกจริงๆ

มีอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้ยินได้ฟังเรื่องราวการโกงกินที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองบ่อยมาก ทั้งจากเพื่อนฝูง คนรู้จัก พ่อแม่ของคนไข้ และก็เจอกับตัวเองตอนไปซื้อบ้านที่ต่างจังหวัด เรื่องราวทั้งหมดมันทำให้หดหู่ใจ

ในช่วงนั้น อาจารย์ได้ดูแลเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวมากพอสมควรทีเดียว พอทำการประเมินทัศนคติ การมองโลก ความใฝ่ฝันในอนาคต ความปรารถนาของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวเหล่านั้นก็พบว่ามีทัศนคติหลายอย่างที่น่าเป็นห่วง หลายคนมีทัศนคติว่า รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี-ตัวใครตัวมัน มองดูเงินทองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด (แน่นอนมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่สำคัญที่สุด) มีความคิดว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จหมายถึงมีเงินทองมาก แต่จะได้มาโดยวิธีไหนนั้นไม่สำคัญ คอรัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ “ใครๆก็ทำกันทั้งนั้น”
ทัศนคติแบบนี้ทำให้อาจารย์รู้สึกหมดหวัง มองไม่เห็นอนาคตของบ้านเมือง

แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของเด็กเหล่านี้ เขาไม่มีแม่แบบที่ดีให้เห็นในสังคม เพราะผู้มีอำนาจ นักการเมือง ข้าราชการที่มีชื่อเสียงและในช่วงนั้นแม้แต่นายกรัฐมนตรียังโกง!

คนรุ่นใหม่ต้องการแบบอย่างที่ดี ที่น่าภาคภูมิใจ ที่เขาจะพูดด้วยความภูมิใจว่า “ผมอยากเป็นแบบบุคคลนี้”
แต่ในสังคมไทย หาต้นแบบที่ดีได้น้อยมาก

ช่วงนั้นอาจารย์ก็อยู่กับความรู้สึกหมดหวัง หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยอยากรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองเท่าไรนัก ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเขียนตำรับตำรา ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี

พอได้ทำเพจปั้นใหม่ขึ้นมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะเขียนความคิดของตัวเองลงไป

อาจารย์ก็เหมือนคนไทยอีกหลายคนที่เรียกร้องอยากเห็นจริยธรรมในสังคม จริงๆ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา เพราะเราเองรู้ว่า จริยธรรมคืออะไร แม้ไม่เห็นจริยธรรมในสังคม ก็พอจะนึกออกว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร (อาจเป็นเพราะแก่แล้ว เลยคิดเป็น 555) แต่เด็กๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมา ยังคิดไม่เป็น เขาต้องเห็นตัวอย่างแห่งจริยธรรม ตัวอย่าง “เป็นๆ” ที่มีชีวิต ที่จับต้องได้ ไม่ใช่ในตำราปรัชญา พ่อแม่เป็นตัวอย่างเท่านั้นไม่พอ เขาต้องเห็นในผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมด้วย

วันนี้ แสงแห่งความหวัง ที่เคยริบหรี่ ได้ลุกโชติช่วงอีกครั้ง
วันนี้ ด้วยความร่วมใจของพวกเรา ในที่สุดการเรียกร้องจริยธรรม ก็บรรลุผล

ขอบคุณโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ทำให้เสียงที่ตะโกนเรียกร้องหาความถูกต้อง ไม่ได้มลายหายไปในอากาศ
ขอบคุณที่เราแต่ละคนได้ยินเสียงของกันและกัน และ “ส่งไม้” ต่อไปเรื่อยๆ

อย่าหยุด….. จนกว่าจะเห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลง

Similar Posts