โกงข้อสอบ

ควันหลงโกงข้อสอบ
เมื่อวานนี้ได้นั่งกินข้าวเที่ยงกับอาจารย์แพทย์หลายคน นานๆเจอกันทีก็เลยคุยกันหลายเรื่อง แต่เรื่องเด่นของมื้อนี้คือ เรื่องโกงข้อสอบเข้าเรียนแพทย์ อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “นี่ขนาดยังไม่ได้เข้ามาเรียนแพทย์จริงๆ ยังทำได้ขนาดนี้ ถ้าเกิดสอบได้ เรียนจบไปแล้ว นึกไม่ออกเลยว่าจะทำขนาดไหน?”
การโกงครั้งนี้ไฮเทคจริงๆ คนที่จะโกงได้อย่างนี้ก็ต้องมีความฉลาดบวกกับความคิดยอกย้อนซ่อนเงื่อน เคยเล่าไว้ในโพสต์ก่อน ถึงงานวิจัยเรื่องการโกง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American Mind การวิจัยพบว่า คนโกงมักจะมี intelligence (ความฉลาด วัดโดยค่า IQ) และ creativity ( แปลไทยว่า ความคิดสร้างสรรค์ แต่อาจารย์อยากแปลว่าความคิดยอกย้อนซ่อนเงื่อน มากกว่า) ในระดับสูง คนพวกนี้จะมีสมองส่วน neocortex ที่ใหญ่และมีรอยหยักลึก กว่าคนทั่วไป neocortex เป็นสมองที่ “คิด” คนพวกนี้จึงสามารถคิดแบบลดเลี้ยวเคี้ยวคด ยอกย้อนซ่อนเงื่อน และมองเห็นช่องทาง (โกง) ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น)
อย่างไรก็ตามเรื่องของการสร้างคุณธรรมจรรยานี้ ‘หัวใจ’ มีอำนาจมากกว่า ‘สมอง’ นะคะ
ในที่นี้หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ด้วยหัวใจ เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และเป็นตัวที่ควบคุมว่าคนนั้นจะใช้สมองหรือความสามารถที่ตนมีในทางบวกหรือทางลบ
การวิจัยพบว่า การสอนคุณธรรม โดยการพูด โดยการถกหรือวิเคราะห์กันเท่านั้น ไม่ค่อยได้ผล
วิธีที่ได้ผลกว่าก็คือการมองเห็นแบบอย่างที่ดีแล้วเกิดความประทับใจ
หากเพียงรับรู้แบบอย่างที่ดี แต่ไม่เกิดความประทับใจ มันก็ไม่ซึมซับเข้าไปในหัวใจ และแบบอย่างนั้นก็จะไม่ค่อยมี Impact ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสักเท่าไหร่
ความประทับใจเป็นอารมณ์เชิงบวก
อันนี้อธิบายได้โดยกลไกของสมองอย่างนี้ค่ะ ความประทับใจเป็นอารมณ์เชิงบวก (positive emotion) อารมณ์เชิงบวกจะทำให้เกิดแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ สมาธิ การคิดที่กระจ่าง และความรู้สึกสงบสุข ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาพหรือเหตุการณ์ที่เห็นนี้ฝังลึกเข้าไปในสมอง และมีผลต่อพฤติกรรมในอนาคต
พอเขียนถึงตรงนี้แล้ว ก็นึกถึงชีวิตของตัวเอง อาจารย์เติบโตขึ้นมาด้วยความประทับใจหลายอย่าง ในตอนเล็กๆก็ประทับใจในตัวคุณพ่อที่ทำงานจนดึกดื่น อุทิศตัวให้กับราชการ ประทับใจในความสัตย์ซื่อของคุณพ่อ และการที่ไม่ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ แม้จะอยู่ในฐานะที่ใช้ได้ก็ตาม (ตัวอย่างนี้ฝังลึก จนแม้เดี๋ยวนี้อาจารย์ก็ไม่กล้าใช้อภิสิทธิ์ในเวลาไปตรวจสุขภาพ ไปนั่งรอคิว แบบคนไข้อื่นๆ ไม่กล้าแซงคิว จนกระทั่งพยาบาลบอกว่า อาจารย์ต้องใช้เส้นบ้างนะ ไม่งั้นต้องรอตั้งแต่แปดโมงจนถึงเที่ยงเลยหละ!)
อาจารย์มีความประทับใจตอนเป็นนิสิตแพทย์ มองเห็นความอ่อนโยนที่อาจารย์หมอนคร (รศ.นพ.นคร ศิริทรัพย์) แสดงกับคนไข้ขณะที่ตรวจคนไข้ทางนรีเวช ต้องเรียกว่าประทับใจสุดๆ เหมือนเป็นแพทย์ในอุดมคติก็ว่าได้ ประทับใจในความขยันของอาจารย์หมอศักดิ์ชัย (ศ.นพ.ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล) หกโมงเช้าก็จะเห็นท่านสอนนิสิตแพทย์อยู่ข้างเตียงคนไข้แล้ว ประทับใจในการอุทิศตัวของอาจารย์คุณหญิงส่าหรี (รศ.พญ.คุณหญิงส่าหรี จิตตินันท์) ที่แม้กระทั่งอายุ 80 กว่าแล้วท่านยังมาช่วยสอนนิสิตแพทย์และดูแลเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
ภาพประทับใจเหล่านี้แหละที่มีอิทธิพลและสามารถควบคุม ปรับเปลี่ยนให้สมองที่ฉลาดและสร้างสรรค์ ทำงานในครรลองที่ถูกต้องเหมาะสม
กระบวนการนี้ ทางจิตวิทยาเรียกว่า identification ซึ่งเป็นการรับเอาแบบฉบับของอีกคนหนึ่งเข้าไว้และประมวลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน ของเรา
การสร้างชีวิตของคนๆหนึ่ง เปรียบได้กับการสร้างบ้าน พ่อแม่ครอบครัวก่ออิฐ สร้างฐานราก เมื่อเติบโตขึ้น ผู้คนอื่นๆ ที่พบเจอก็วางอิฐก้อนต่อๆไป ผู้คนที่ว่าอาจเป็นผู้ใหญ่ข้างบ้าน ครูบาอาจารย์ เพื่อนในโรงเรียน หัวหน้าในที่ทำงาน ไปจนถึงดาราที่ชื่นชอบ ผู้ประกาศข่าวในทีวี และแม้กระทั่งนักการเมือง นายกรัฐมนตรี
หากเราแต่ละคนตระหนักถึงอิทธิพลที่เรามี ต่อชีวิตของเด็กๆ ที่จะเติบโตมาเป็นคนรุ่นใหม่ มาเป็นพลังของสังคม เราคงระมัดระวังวิถีปฏิบัติของเรามากกว่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในสังคม ที่เด็กสามารถมองเห็น) นักการเมืองคงโกงกินน้อยลง (ไม่กล้าหวังให้หยุดโกงกิน 555) ดารานักร้องคงจะโพสต์อะไรที่ไม่ล่อแหลม ผู้สร้างละครคงจะทำละครที่ น้ำเน่า น้อยลง และในอนาคตเวลาส.ส.ประชุมรัฐสภาก็คงไม่วางมวยกัน (555 ได้แต่หวัง)
อยากให้เราทุกคนตระหนักถึงบทบาทของเราที่มีต่อชีวิตที่กำลังจะเติบโตขึ้น
ตระหนักว่าเราเป็นคนหนึ่งที่จะวางอิฐในชีวิตของคนรุ่นใหม่
วันนี้เราน่าจะถามตัวเองว่า เราวางอิฐแบบไหน อิฐดี หรืออิฐเสีย ในชีวิตของเด็กๆ
อยากวางรากฐานอิฐให้ชีวิตของลูก เรียนบทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี” และอ่านหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ”