ไม่มีหมวดหมู่ | ปัญหาพิเศษ สมาธิสั้น ออทิสติก พัฒนาการช้า ฯลฯ

โรคสมาธิสั้น รักษาหายไหม? (ตอนที่ 2)

โรคสมาธิสั้น รักษา

สมาธิสั้น รักษาได้ โดยเฉพาะการรักษาที่เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กจะช่วยเหลือให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ และครู ร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษา ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และพยายามทำความเข้าใจอาการของโรค ทำความเข้าใจเด็ก ลดทัศนคติที่ไม่ดี และลดคำตำหนิติเตียน รวมถึงการให้กำลังใจ ให้ความสำคัญแก่เด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้

โรคสมาธิสั้น รักษาได้แต่อาจต้องใช้เวลาในการรักษา

อ่าน บทความโรคสมาธิสั้นรักษาหายไหม ตอนที่ 1

เพิ่ม สมาธิ

1. การกำกับลูกแบบตัวต่อตัว

เมื่อเลิกเรียนในแต่ละวัน คุณควรใช้เวลาดูแลลูกในการทำการบ้าน โดยนั่งกับลูกขณะที่ลูกทำการบ้าน การวิจัยพบว่า หากมีคนอยู่กับเด็กและคอยกำกับเด็กแบบตัวต่อตัว (one to one supervision) จะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น

ดังนั้นอย่าปล่อยให้ลูกนั่งทำงานคนเดียว เพราะลูกอาจใจลอย ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงในการทำเลขเสร็จ 1 ข้อ คุณควรนั่งอยู่กับลูกโดยให้ลูกนั่งทำการบ้านพร้อมๆ กับคุณเองก็นั่งอ่านหนังสือ หรือทำงานของคุณไปเงียบๆ ด้วย คอยเงยหน้ามาถามลูกบ้างเป็นพักๆ ว่าเสร็จหรือยัง ทำไปถึงไหนแล้ว มีอะไรสงสัยไหม เป็นต้น เพื่อดึงสมาธิของลูกให้อยู่ที่การบ้าน ไม่ใช่คิดถึงการ์ตูน

2. การฝึกสมาธิแบบต่อเนื่อง

คุณสามารถฝึกสมาธิแบบต่อเนื่องได้โดยการหัดให้ลูกนั่งทำงานอย่างต่อเนื่อง คำว่า “นั่งทำงานอย่างต่อเนื่องนั้น” หมายความว่า ให้เด็กนั่งที่โต๊ะ ให้ทำงานบางอย่างที่มอบหมายให้โดยห้ามลุกจากโต๊ะจนกว่างานจะเสร็จ งานที่ให้ควรเป็นสิ่งที่ไม่ตื่นเต้น เช่น การคัดลายมือ ต่อจิ๊กซอว์ อย่าให้งานเป็นสิ่งสนุกที่เด็กชอบอยู่แล้ว เช่น อ่านการ์ตูน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กสามารถจดจ่อทำได้นานเป็นชั่วโมงโดยไม่ต้องฝึก ก่อนจะมานั่งต้องให้ลูกไปกินขนม หรือเข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยเสียก่อน เมื่อเริ่มต้นนั่งทำงานแล้วก็หมายความว่า ห้ามลุกจากที่นั่งจนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้

ถ้าจะให้ง่ายขึ้น คุณควรมีนาฬิกาจับเวลาวางไว้บนโต๊ะด้วย เพื่อให้ลูกสามารถดูเวลาได้ เพราะเด็ก ADD มักจะอดทนรอไม่ค่อยได้ หากถูกบังคับให้นั่งนิ่งๆ โดยไม่รู้เวลา เด็กอาจจะกระสับกระส่ายเกินไป การได้รู้ว่าเมื่อไรจึงจะครบกำหนด จะช่วยให้เด็กมีกำลังใจ มีใจสงบ และทำงานที่ได้รับมอบหมายได้จนเสร็จ ลูกนั่งทำงานอย่างต่อเนื่อง จะนั่งได้นานเท่าใดขึ้นอยู่กับอายุและความรุนแรงของโรค ในเด็กที่อายุน้อย เช่น 3-4 ขวบ หรือมีอาการซน อยู่ไม่นิ่งอย่างมาก อาจเริ่มต้นโดยให้นั่งเงียบๆ ครั้งละ 10 นาที เมื่อทำได้ดีแล้วจึงค่อยเพิ่มเป็น 20 นาที 30 นาที และ 40 นาที ตามลำดับ

การหัดให้ลูกนั่งทำงานอย่างต่อเนื่องนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีมากในการทำให้เด็กนิ่งขึ้น วิธีนี้ได้ผลในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต ดังนั้นคุณควรหัดลูกตั้งแต่ยังเล็ก และควรทำทุกวันควรทำบันทึกด้วยว่าคุณฝึกลูกบ่อยแค่ไหน โดยทุกครั้งที่ลูกทำงานเสร็จควรยื่นสติ๊กเกอร์ให้ลูกเป็นรางวัล และให้ลูกติดบนใบดาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาทำได้สำเร็จตามกำหนด
การทำใบดาวดังกล่าวจะช่วยให้เด็กมีกำลังใจ

3. การนั่งสมาธิ

ในเด็กที่โตแล้ว การนั่งสมาธิเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจนำมาใช้ได้ผลดี (แต่ในเด็กเล็กควรใช้วิธีนั่งเงียบๆ ทำกิจกรรมบางอย่างดังที่กล่าวในข้อ 2.) โดยฝึกให้ลูกหลับตาและนั่งสงบประมาณ 20 นาที วันละ 1 – 2 ครั้ง การจะกำหนดคำภาวนาอย่างไรนั้นขึ้นกับความเชื่อของแต่ละครอบครัว

คุณอาจกำหนดให้เด็กนึกคำที่สร้างกำลังใจ เช่น “ฉันดีขึ้นทุกวัน” ก็ได้ บางทีคุณอาจดัดแปลงวิธีนั่งสมาธิดังกล่าว โดยให้ลูกนั่งสงบ หลับตา และฟังเพลงเบาๆ โดยไม่ให้มีสิ่งใดรบกวนก็ได้ แต่ข้อสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอย่างไร คุณจะต้องคอยกำกับให้ลูกปฏิบัติตรงเวลาและสม่ำเสมอ ไม่ใช่วันนี้ทำและพรุ่งนี้ไม่ทำ ช่วงแรกๆ คุณอาจต้องเตือนทุกวัน เมื่อลูกรู้ว่าเป็นหน้าที่ ลูกก็จะทำต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตรไปเอง

4. การออกกำลังกาย

เด็ก ADD มีพลังงานมากมาย ดังนั้นการได้ออกกำลังกายจนเหนื่อยมากๆ ในแต่ละวันจะช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น วุ่นวายน้อยลงและทำให้บ้านสงบลง ไม่ใช่ปล่อยให้วิ่งเล่นหรือสนุกสนานตามลำพังอย่างไร้จุดหมาย การออกกำลังกายที่ช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้นได้แก่ การวิ่ง ตี เทนนิส แบดมินตัน และ ว่ายน้ำ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่มีคนหลายคนทำให้วอกแวก ควรให้เด็กออกกำลังกายอย่างต่ำ 20 นาที จนมีเหงื่อออกหรือรู้สึกว่าเหนื่อยจริงๆ

นอกจากนี้ควรกำหนดให้เด็กทำอย่างชัดเจน เช่น ให้ว่ายน้ำ 10 รอบสระ เป็นต้น การที่มีเป้าหมายแน่ชัดว่าตนจะว่ายกี่รอบ และนับจำนวนรอบด้วยตนเอง จะทำให้เด็กเพ่งสมาธิได้ดีขึ้น

สิ่งสำคัญมากคือ พยายามใช้การออกกำลังเป็นเครื่องสร้างวินัยให้เด็กด้วย นั่นคือ ต้องให้ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาทุกครั้ง เช่น วิ่งรอบสนามวันละ 20 รอบ วันเว้นวันในเวลา 6 โมงเย็น และเพื่อช่วยให้เด็กทำตามที่กำหนดได้ จึงควรมีผู้ใหญ่ควบคุมให้เด็กได้ออกกำลังกายจริงๆ

เพิ่ม การฝึกควบคุมตัวเอง

การช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้มากขึ้น สามารถกระทำได้โดยการสร้างระเบียบวินัยให้เกิดในตัวเด็กนั่นเอง
เทคนิคที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

1. หัดให้เด็กเชื่อฟังคำสั่ง

อ่านเทคนิคการออกคำสั่งอย่างมีประสิทธิภาพ

2. มีระเบียบวินัยที่แน่นอน

เสมอต้นเสมอปลาย ในบ้านควรมีระเบียบวินัยที่ชัดเจนว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่าวันนี้คุณอารมณ์ดี ลูกก็ทำสิ่งนี้ได้ แต่พรุ่งนี้คุณอารมณ์เสียลูกทำแบบเดิมแต่กลายเป็นความผิด ถ้าเป็นแบบนี้ลูกจะสับสนไม่รู้ว่าควรทำอะไรกันแน่

3. ฝึกความอดทน

หัดให้เด็กทำอะไรด้วยตนเอง ให้เผชิญความยากลำบากบ้าง

4. หัดให้รอคอย

เด็ก ADD รอคอยไม่ค่อยเป็น เมื่ออยากได้อะไรก็ต้องการทันที คุณควรฝึกให้ลูกรอบ้างโดยการไม่ทำอะไรให้เด็กในทันที
หัดยืดเวลาออกไปสักหน่อย และหัดให้เด็กทำงานที่ใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ

5. ให้รางวัลเมื่อลูกทำดี

เมื่อลูกทำสิ่งที่ดีหรือเหมาะสม ควรมีรางวัลให้ด้วย มิฉะนั้นลูกจะรู้สึกว่าทำดีไปก็ไม่มีใครเห็น รางวัลที่ให้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเสมอไป อาจเป็นคำชม การกอด การหอมแก้ม การได้ดูโทรทัศน์ดึกในวันสุดสัปดาห์ การได้อ่านนิทานกับคุณพ่อ หรือไปเที่ยวกับคุณแม่เป็นพิเศษ

6. มีบทลงโทษเมื่อทำไม่ดี

หากลูกทำผิดคำสั่ง คุณอาจเตือนเขาสักหนึ่งครั้ง หากเขาไม่เชื่อฟังอีกคุณก็ต้องลงโทษตามที่ตกลงกันไว้ การลงโทษจะเกิดผลก็ต่อเมื่อลงโทษทันทีที่เด็กกระทำผิด และทำให้จบโดยเร็ว อย่าขู่ว่าจะลงโทษด้วยวิธีที่คุณเองไม่สามารถทำได้หรือใจไม่แข็งพอที่จะทำ ถ้าลูกทำผิด หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบ ก็ต้องมีโทษซึ่งอาจเป็นการงดค่าขนม งดดูโทรทัศน์ หรืออดออกไปเล่นนอกบ้าน เป็นต้น

ไม่จำเป็นต้องลงโทษด้วยวิธีตีเสมอไป อันที่จริงแล้ว การลงโทษด้วยวิธีตีเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้ผล เพราะเด็กมักลืมง่าย จำไม่ได้ว่าถูกตีด้วยเรื่องอะไร และมักทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หากคุณใช้แค่วิธีตี ในที่สุดคุณก็ต้องตีลูกบ่อยๆ และลูกก็จะเกิดการดื้อไม้เรียวตามมา

7. มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน

เนื่องจากเด็ก ADD มักทำสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ดังนั้นคุณควรจะช่วยสร้างระเบียบให้เกิดขึ้น เช่น ควรมีการกำหนดกิจวัตรประจำวันของลูกอย่างแน่นอน ลูกควรจะรู้ว่าแต่ละวันมีอะไรที่ตนต้องทำบ้างและทำเมื่อใด

เนื่องจากเด็ก ADD มักหลงลืมง่าย คุณจึงควรเขียนกิจวัตรแต่ละวันใส่กระดาษติดไว้ที่ประตูห้องหรือที่ตู้เย็น ถ้าลูกยังเล็กก็สอนลูกให้รู้จักดูเวลาด้วย ลูกจะได้รู้ว่าเมื่อใดควรทำอะไร โดยที่คุณไม่ต้องบอกซ้ำๆ ซากๆ การกำหนดกิจวัตรอย่างแน่นอนจะช่วยให้เด็กสามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง และลดปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากการออกคำสั่งแก่เด็กบ่อยๆ

ตารางกิจวัตรประจำวัน
 เช้า    6 โมงเช้า   ตื่นนอน  แต่งตัว  กินอาหาร
       7 โมงเช้า   ออกจากบ้าน
 เย็น    5 โมงเย็น   กลับถึงบ้าน
       6 โมงเย็น   ออกกำลังกาย  อาบน้ำ
       1 ทุ่ม      กินข้าว  และคัดลายมือ 20 นาที
       2 ทุ่ม      ทำการบ้าน
       3 ทุ่ม      นอน

8. ให้ลูกมีทางระบายอารมณ์โกรธบ้าง

เด็กที่เป็น ADD มักมีอารมณ์โกรธและหงุดหงิดง่ายกว่าเด็กทั่วไป แม้ว่าลูกจะพยายามปรับปรุงตัวในหลายด้านแล้วก็ตาม คุณก็ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ร้อยเปอร์เซนต์เต็ม บางครั้งลูกอาจอารมณ์เสียและปิดประตูดังปัง หรือทำเสียงโครมครามบ้าง คุณก็ควรจะอดทน เพราะการทำแบบนั้นดีกว่าการไปชกหน้าคนอื่น

คุณต้องอนุญาตให้ลูกแสดงอารมณ์โกรธและหงุดหงิดได้บ้าง แต่ข้อสำคัญ คือ ควรสอนลูกว่า ระบายอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร เช่น ถ้าโกรธก็อาจจะมาชกหมอนแทนที่จะเตะข้าวของให้พัง ถ้าลูกโตหน่อยก็อาจซื้อกระสอบทรายมาไว้ให้ต่อยเวลาอารมณ์ไม่ดี เมื่อลูกอารมณ์ดีแล้ว คุณควรหาโอกาสพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทำให้ลูกหงุดหงิด

การพูดคุยกันจะช่วยให้คุณเข้าใจลูกมากขึ้น และช่วยเหลือเขาได้ถูกต้อง ลูกเองก็จะรู้สึกว่าคุณสนใจและพยายามเข้าใจเขา ที่สำคัญคือ การให้ลูกเล่าว่าตนเองรู้สึกอย่างไร และเพราะอะไรจึงรู้สึกอย่างนั้นจะเป็นการช่วยให้ลูกเข้าใจตนเองมากขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่การควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

9. ประเมินความก้าวหน้าของลูก

เด็กจะควบคุมตนเองได้ดีขึ้นเมื่อเขาได้รับการบอกกล่าวว่า
ความประพฤติที่เขาพยายามปรับปรุงนั้นดีขึ้นมากน้อยเพียงไร และมีอะไรจะต้องแก้ไขอีกบ้าง ดังนั้นคุณจึงควรนั่งคุยกับลูกเป็นระยะๆ ว่า คุณคิดว่าลูกพัฒนาไปอย่างไรบ้าง เมื่อเริ่มต้นคุยควรพูดถึงความก้าวหน้าของลูกก่อนและตามมาด้วยสิ่งที่ลูกควรต้องแก้ไข เช่น “พ่อสังเกตว่าลูกตั้งใจทำการบ้านมากขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว แสดงว่าลูกกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มีอย่างหนึ่งที่ลูกจะต้องทำให้ดีกว่าเดิม นั่นคือ ลายมือ มันยังโย้เย้อยู่มาก ถ้าลูกพยายามอีกนิด มันก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน” หากพูดถึงสิ่งดีๆ ที่เด็กทำได้ก่อน เด็กก็จะเกิดความรู้สึกดีขึ้น และไม่รู้สึกว่าตนถูกพ่อแม่จับผิดอยู่ร่ำไป

สมาธิสั้น รักษา หายไหม

แนะนำหนังสือ “สร้างสมาธิให้ลูกคุณ” และหลักสูตรออนไลน์ “ดูแลลูกสมาธิสั้น”

Similar Posts