
ว่าด้วยเรื่องของโรคหลงตัวเอง ตอนนี้ใครๆก็ใจจดจ่ออยู่ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ลุ้นกันจนเหนื่อย เชียร์ใครก็เชียร์ไปเถอะ แต่ขอภาวนาให้ทุกอย่างลงเอยด้วยดีก็แล้วกัน

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมือง เป็นเรื่องทางวิชาการล้วนๆ นะ

พูดถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของท่าน จนกระทั่งมีจดหมายเปิดผนึกของจิตแพทย์กลุ่มหนึ่งที่แสดงความเห็นว่า
ท่านไม่เหมาะจะทำหน้าที่ผู้นำ เพราะมีบุคลิกภาพเป็นปัญหา แบบหลงตัวเองหรือ narcissistic personality disorder-NPD (จิตแพทย์กลุ่มนี้ฝ่าฝืนกฏของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ที่ห้ามจิตแพทย์วินิจฉัยบุคคลทางการเมือง โดยที่ไม่ได้ตรวจบุคคลนั้นจริงหรือไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น กฏนี้ชื่อ Goldwater Rule แต่จิตแพทย์กลุ่มนี้ก็อธิบายว่า ขอฝ่าฝืนกฏเพราะนี่เป็นเรื่องที่มีผลต่อประเทศชาติ จะให้นิ่งดูดายได้อย่างไร)

คำว่า narcissist แปลว่าคนหลงตัวเอง ทุกคนก็มีความหลงตัวเองไม่มากก็น้อย นักวิจัยกล่าวว่า ความหลงตัวเองหรือ narcissism นี่มันเป็น spectrum คือเป็นช่วงดีกรี ตั้งแต่น้อยสุดไปจนถึงมากสุด คนส่วนใหญ่อยู่ช่วงกลางๆ แต่คนที่มีลักษณะหลงตัวเอง คือเป็น narcissist ก็มากหน่อย แต่คนเป็น NPD จะสุดโต่งไปเลย

ลักษณะ narcissism เป็นอย่างไร? สรุปง่ายๆก็คือ ฉันดีกว่าใคร ฉันเก่งกว่าใคร ฉันไม่มีทางทำผิด/พลาด ถ้าผิดมันก็เป็นความผิดของคนอื่น ในเมื่อฉันไม่เคยทำผิดฉันก็ไม่จำเป็นต้องขอโทษใคร ความต้องการของคนอื่นอาจจะสำคัญ แต่ของฉันสำคัญกว่า ฉันมีสิทธิ์ที่จะได้….(ข้อนี้ไม่ธรรมดานะ จะค่อยอธิบายคราวหน้า)

มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจมาก ตีพิมพ์ในวารสาร National Academy of Sciences ศึกษาในเด็กอายุ 7-12 ปีจำนวน 565 คน ทุก 6 เดือนจะมีการ ติดต่อผู้ปกครอง ให้ประเมินพฤติกรรมของลูกและวิธีเลี้ยงดู ในขณะเดียวกันก็ให้เด็กทำแบบทดสอบที่วัดความรู้สึกนึกคิดของเด็ก การศึกษานี้ทำต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือน ผลการศึกษาพบว่า ในเด็กที่พ่อแม่มีมุมมองหรือวิธีการเลี้ยงลูกในแบบที่เรียกว่า overvalue ลูก (คือคิดว่าลูกของเราเป็นคนพิเศษ เป็นคนที่ดีกว่าเด็กคนอื่นและสมควรจะได้รับการปฏิบัติที่พิเศษกว่าเด็กอื่น) จะทำให้ลูกมีมุมมองแบบ narcissism คือคิดว่าตัวเองเหนือกว่าเพื่อน ดีกว่าเพื่อน นอกจากนี้ยังพบว่า การ overvalue ลูก ไม่ได้ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่น มีความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความนับถือตัวเอง (self-esteem) สูงขึ้นเลย แต่การปฏิบัติต่อลูกอย่างอบอุ่นและด้วยความเข้าใจ จะเพิ่มความรู้สึกเหล่านี้มากกว่า

นักวิจัยแนะนำว่า การรักลูกเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าคุณคิดว่าลูกของคุณดีกว่าคนอื่นก็อาจจะนำไปสู่ภาวะหลงตัวเองเมื่อลูกโตขึ้นมา ความหลงตัวเองนี้ เจ้าตัวอาจไม่รันทด แต่ผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตด้วย ที่ต้องข้องเกี่ยวด้วยจะรันทดมากกว่า
อ่านจบก็ไปลุ้นเลือกตั้งต่อเลย!


อยากเลี้ยงลูกให้ self-esteem ดี ไม่หลงตัวเอง เรียนหลักสูตรออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ปั้นให้ดี” สมัครที่
ติดตามบทความและเรื่องราวดีๆได้ที่เพจ ปั้นใหม่ โดยอาจารย์หมออุมาพร