4 ลักษณะบุคลิกภาพของแม่ คำถามจากคุณติ๊กบิ๊กบราเธอร์

ปกติก็ไม่ค่อยได้ดูทีวี แต่ชอบมีคนส่งเรื่องราวในทีวีมาให้ เมื่อวานซืนลูกศิษย์ก็ส่งลิ้งค์ รายการโหนกระแสมาให้ดู แล้วถามว่า “เรื่องคุณศรรามกับภรรยา อาจารย์คิดอย่างไร ?”
ดูแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เห็นใจทั้งคู่ว่างั้นเถอะ เราไม่ตัดสินใครเพราะเราไม่รู้เงื่อนไขของแต่ละคนว่าลึกซึ้งแค่ไหน
เพียงแต่ติดใจในคำถามของคุณติ๊กที่ว่า เธอไม่มีประสิทธิภาพในความเป็นแม่เลยหรือ?
เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เอ! ประสิทธิภาพในความเป็นแม่นี่ เขาวัดกันอย่างไร? เลยไปลองค้นดูว่ามีงานวิจัยที่สร้างเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของแม่หรือไม่ ค้นไปค้นมาไม่เจออะไรเลย55
แต่ไปเจองานวิจัยอันหนึ่งที่น่าสนใจ เลยอยากเล่าให้ฟัง
งานนี้เป็นการศึกษาของมหาวิทยาลัย Bristol มหาวิทยาลัย Exeter และ King’s College London กับ Eunice Kennedy Shriver National Institute of Child Health and Human Development เขาศึกษาพ่อ แม่ และเด็กจำนวนทั้งสิ้น 8,035 คน โดยทดสอบบุคลิกภาพของพ่อกับแม่ ตอนที่เด็กอายุ 9 ขวบ และไปศึกษาอีกทีตอนที่เด็กอายุ 18 ปีว่าเด็กจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างไรหรือไม่
ผลการศึกษาพบว่า มีบุคลิกภาพ 4 อย่างในแม่ที่จะส่งผลให้ลูกมีปัญหาโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลกับมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองสูงกว่ากลุ่มเด็กที่แม่ไม่มีบุคลิกภาพดังกล่าว เป็นอัตรา 2 เท่าและ 1.5 เท่าตามลำดับ
ลักษณะบุคลิกภาพ 4 อย่างของแม่ที่ทำให้ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต คือ
1. Sensation-seeking (ชอบความตื่นเต้น)
คือชอบแสวงหาความตื่นเต้น แปลกใหม่ หวือหวา ขี้เบื่อ ต้องหาอะไรใหม่ๆทำตลอดเวลา ไม่สามารถทำเรื่องอะไรซ้ำๆได้
2. Impulsive (วู่วาม)
วู่วาม ไม่ค่อยยั้งคิด อยากนึกจะทำอะไรก็ทำทันที อยากพูดอะไรก็พูด ไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน
3. Angry (ขี้โมโห)
ขี้โกรธ ขี้โมโห อารมณ์ ลูกทำอะไรนิดหน่อยก็ของขึ้น และแสดงออกมาทางสีหน้าท่าทางหรือกิริยา
4. Suspicious (ขี้ระแวง)
หรือ detached คือ ระแวง ไม่ไว้ใจใคร เหินห่าง แม้กับทั้งลูกตัวเอง มองอะไรเป็นแง่ลบเสมอ ขี้กังวล ขี้กลัว ในส่ิงต่างๆรอบตัวหรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
ที่น่าแปลกใจก็คือลักษณะแบบนี้หากพบในพ่อกลับไม่มีอิทธิพลต่อเด็กเลยนะ แม่ทุกคนควรภูมิใจ 55 (แต่นักวิจัยคงกลัวพ่อจะเสียใจ เลยบอกว่าพ่ออาจจะมีอิทธิพลในด้านอื่นซึ่งจะต้องทำการศึกษาต่อไป…)
ทำไมลักษณะทั้งสี่นี้จึงมีผลต่อสุขภาพจิตของเด็กเป็นอย่างมาก? คำตอบก็คือเพราะมันทำให้สร้างความผูกพันกับลูกได้ยาก และทำให้เด็กโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่นิ่งไม่สงบไม่ปลอดภัย ไม่มีที่พึ่ง และรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าไม่มีความหมายในขณะเดียวกันเมื่อเด็กมีปัญหาหรือมีความคับข้องใจก็ไม่สามารถเข้าหาแม่ได้ เพราะลักษณะแม่แบบนี้ช่วยปลอบใจลูกไม่ได้ มีแต่จะทำให้ลูกช้ำใจมากขึ้น
ที่เล่ามานี่ไม่เกี่ยวกับเคสของคุณศรรามกับคุณติ๊ก แต่ยังไงๆ ก็ขอให้กำลังใจทั้งคู่นะคะ ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ตั้งใจทำให้ดีที่สุด หากตั้งใจจริงก็ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรๆให้ดีขึ้นได้แน่
ปล. ถ้าแม่ๆทั้งหลายอยากแก้ปมบุคลิกภาพของแม่แบบที่ว่า น่าจะอ่าน “สร้างชีวิตใหม่” หนังสือ bestseller ของปี 63 ที่อาจารย์เขียนนะคะ
ซื้อเลยวันนี้ ก่อนหมด ไม่พิมพ์เพิ่มแล้วนะคะ!
สั่งทาง Inbox ได้เลยค่ะ