ลูกเถียง หรือแสดงความคิดเห็นกันแน่ พ่อแม่อย่าเข้าใจผิด

การเถียงกับการแสดงความคิดเห็น อาจจะดูเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ !!!
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในห้องตรวจ แม่พาลูกมาปรึกษาด้วยเรื่องว่าลูกดื้อไม่เชื่อฟัง เอาแต่เล่นเกม
ลองดูบทสนทนาของแม่-ลูกคู่นี้นะคะ
แม่: เวลาไปไหน ถ้าแม่ดูอะไรนานสักนิด เขาก็จะไม่ยอม
ลูก : ต้องซื้อเกมให้ถึงจะยอม
แม่: ถ้าไปดูของตัวเองแล้วก็ไม่เป็นไร เช่นดูเกมนานเท่าไหร่ก็ไม่ว่า แต่เวลาแม่เดินดูของใช้ในบ้าน เขาก็บ่น
ลูก: ก็ต้องซื้อเกมให้ ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน
หมอ: แล้วแม่ทำอย่างไรคะ?
แม่: ก็ทนเอา สักครู่ก็กลับ
ลูก: สักครู่เหรอ? หนึ่งชั่วโมงนี่เรียกว่าสักครู่เหรอ? (หันมามองหน้าแม่ ทำท่าราวกับจะเอาเรื่อง) อยากจะบ้าตาย ทำไมต้องดูด้วย? ดูไปก็ไม่ซื้อ
แม่: บางทีแม่ก็อยากจะเดินดูอะไรบ้างนี่
ลูก: แม่เอาเปรียบ เอารัดเอาเปรียบ พ่อก็เอารัดเอาเปรียบ จะขอเล่นเกมวันธรรมดาก็ไม่ยอมให้เล่น
แม่: ไม่ได้หรอกลูก
ลูก: ทำไมจะไม่ได้?
แม่: ก็มันเป็นวันเรียนหนังสือ หนูต้องทำการบ้าน
ลูก: ทำไมการบ้านเสร็จแล้วก็เล่นไม่ได้? นอนดึกก็ไม่ได้ ทีเพื่อนเขายังนอนดึกเลย
แม่: ไปเปรียบเทียบกับเพื่อนได้อย่างไรกัน
ลูก: ทำไมไม่ได้ล่ะ?
แม่ : แม่เห็นเขายังมานอนในรถเลย เป็นชั่วโมง ตอนเช้าก่อนโรงเรียนเข้า
ลูก: ใครบอกล่ะ! นั่นมันบางวัน ธรรมดาเขาไม่นอนหรอก
แม่: แต่แม่เห็นเขานอนนะลูก บ้านเขาอยู่ไกล
ลูก: ถ้าไกลกว่าเราทำไมเขานอนดึกได้?
แม่: แต่ละคนไม่เหมือนกันนี่นา
ลูก: ถ้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน งั้นผมก็อยู่ดึกได้สิ
แม่: ลองไหมล่ะ? (แม่ชักโมโห)
ลูก: เอาเดะ (เช็ดหน้าใส่แม่)
อ่านแล้วคิดว่า ลูกกำลังแสดงความคิดเห็นหรือกำลังเถียงแม่?
เป็นสิ่งดีที่จะเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น แต่ ควรแยกให้ถูกระหว่างเถียงกับแสดงความคิดเห็น
ระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของลูก และขั้นแรกในการสร้างวินัยคือ ต้องทำให้ลูกเคารพยำเกรงคุณ
ในตัวอย่างนี้ลูกไม่ได้เกรงใจแม่เลย เถียงแม่ข้างๆคูๆ แม่พูดจบเด็กก็พูดต่อ เป็นอย่างนี้อยู่นานจนแม่เริ่มทนไม่ไหว
สิ่งที่จะทำให้ลูกไม่เคารพยำเกรงพ่อแม่ก็คือการเปิดช่องให้ลูกเถียง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะให้ลูกแก้ตัวหรืออธิบายความคิดเห็นและความต้องการไม่ได้ แต่หมายความว่าคุณไม่ควรให้บทสนทนาดำเนินไปแบบลูกเถียงคำต่อคำ ประโยคต่อประโยคไปเรื่อยๆ
ทางที่ดีคุณควรตัดบทเลย เช่นคุณอาจจะบอกว่า “ถึงอย่างไรแม่ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่าวันธรรมดาลูกจะเล่นเกมไม่ได้เพราะลูกต้องเรียนหนังสือ”
การตัดบทและจบเรื่องอย่างรวดเร็วไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเผด็จการหรือครอบงำความคิดของลูกหรอก มันเป็นการแสดงความหนักแน่นต่างหาก
ถ้าคุณปล่อยให้ลูกเถียงคำไม่ตกฟากเช่นนี้บ่อยๆ ลูกก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ได้มีอำนาจปกครองเขา และในที่สุดคุณก็จะสอนอะไรลูกไม่ได้เลย
ถ้าตอนเล็กๆคุณสอนลูกไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะไปสอนตอนโตได้
การสร้างอำนาจปกครองในฐานะพ่อแม่เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเด็กยังไม่โตพอ ความคิดยังไม่งอกงามหรือมีประสบการณ์มากพอที่จะตัดสินว่าตัวเองควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เด็กต้องอาศัยพ่อแม่ในการช่วยชี้นำ
แต่การชี้นำต้องมีความหนักแน่นและมีอำนาจปกครองพอ ลูกจึงจะยอมทำตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกมีนิสัยชอบท้าทาย ถ้าคุณเป็นแบบคุณแม่คนนี้ คุณจะไม่สามารถสอนเขาได้เลย
อ่านต่อได้จากหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” หรือศึกษาได้จากหลักสูตร เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี