ฝึกวินัยให้ลูกทั้งที ฝึกให้ถูกวิธีดีกว่า

ในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนทุกคน ข้อมูลข่าวสาร และความรู้ต่างๆ มากมายรวมอยู่ในมือถือเพียงเครื่องเดียว ลูกของคุณจะได้รับทั้งประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ได้รับรู้ถึงตัวอย่างที่ไม่ดีได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเช่นเดียวกัน แต่เราจะสอนให้เด็กเลือกส่วนที่ดีของสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคนี้ควรต้อง “ฝึกวินัย” ให้ลูกอย่างจริงจัง
การฝึกวินัยให้ลูกตามวัย
การฝึกวินัยจะต้องฝึกอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการของเด็ก โดยมีเป้าหมายหลักคือ การให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองให้อยู่ในขอบเขต และสามารถแสดงพฤติกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และความสามารถนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า
การฝึกวินัยให้ลูกเป็นสิ่งดีมากที่พ่อแม่ตั้งใจจะสร้างวินัยให้ลูก แต่การฝึกวินัยมีหลักการและมีขั้นตอนมากมายที่คุณจะต้องทำให้ถูกต้อง หากทำไม่ถูก ก็จะไม่ได้ผล แถมลูกจะต่อต้านคุณ และคุณก็เหนื่อยเปล่า
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง วินัยคืออะไร
สอนลูกให้มีวินัยในตนเอง
เลี้ยงลูกให้มีวินัย
มีหลายสิ่งที่ควรจะต้องรู้ในการฝึกวินัยให้ลูก แต่ครั้งนี้ขอพูด 3 ประเด็นก่อน
1. เด็กแต่ละวัยแตกต่างกัน วิธีการที่ใช้ก็ต้องให้เหมาะกับวัย
ในเด็กเล็กต้องอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ
คุณแม่คนหนึ่งอยากให้ลูกวัย 3 ขวบกินนมให้หมด เลยบอกว่า “กินให้หมดนะ โตขึ้นลูกจะได้แข็งแรง ถ้ากินไม่หมดเดี๋ยวหนูจะตัวเล็กนะ” ประโยคนี้ลูกวัย 3 ขวบอาจจะไม่เข้าใจและนึกภาพไม่ออก ก็เลยไม่กินนมตามที่แม่สั่ง
ถามว่าพูดประโยคนี้ได้ไหม?
พูดได้ค่ะ แต่อาจจะไม่ค่อยได้ผลเพราะคำว่า “แข็งแรง” เป็นคำที่เป็นนามธรรม ส่วนคำว่า “เดี๋ยว” ก็เป็นคำอธิบายเวลาซึ่งเป็นนามธรรมอีกเช่นกัน และในเด็กเล็กก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของเวลาชัดเจนเท่าไรนัก (วิธีที่ดีกว่าคือใช้ใบดาว และบอกให้กินอย่างหนักแน่น)
2. บางครั้งการฝึกวินัยก็ต้องใจแข็ง
เช่น ลูกร้องงอแงเพราะต้องการของบางอย่างและคุณให้ไม่ได้ คุณก็ต้องใจแข็ง ปล่อยให้ร้อง แต่คุณไม่ควรจะเงียบไปเฉยๆ คุณควรอธิบายว่า “หนูร้องอย่างนี้แม่ไม่ชอบ หยุดร้องแล้วแม่จะคุยด้วย”
เพราะถ้าคุณเงียบไปเฉยๆและปล่อยให้เขาร้องจนหมดแรง ลูกจะรู้สึกว่าคุณไม่รักเขา และแม้เขาจะหยุดร้องแต่ก็จะไม่เข้าใจเงื่อนไขว่าในครั้งต่อไปควรจะทำตัวอย่างไร (เรื่องนี้ต้องอธิบายกันยาวหน่อย ขอค้างไว้โพสต์หน้า)
3. บางครั้งเวลาลูกไม่เชื่อฟัง
เราก็จำเป็นจะต้องบอกถึงผลลัพธ์เชิงลบ เช่น การลงโทษที่จะต้องเกิดขึ้น แต่ไม่ควรจะใช้ลักษณะของการขู่ว่าจะทำบางอย่างที่คุณทำไม่ได้ เช่น หากลูกไม่ยอมทำการบ้านแล้วคุณบอกว่า “จะให้ออกจากโรงเรียน ไม่ต้องไปเรียนหนังสือแล้ว”
คุณก็ทำตามที่พูดไม่ได้อย่างแน่นอนหรือหากลูกไม่ยอมอาบน้ำและคุณบอกว่า “ตัวสกปรกแบบนี้แม่จะให้ไปนอนกับสุนัขหน้าบ้าน” คุณก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน!
❌ อย่ากำหนดผลลัพธ์ที่คุณทำไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกไม่เชื่อคุณและคิดว่าสิ่งที่พ่อแม่บอกจะไม่เกิดขึ้นจริงหรอก ในอนาคตคำเตือนต่างๆจะไม่ได้ผล
การฝึกวินัยให้ลูกไม่ใช่เรื่องยาก หากพ่อแม่เห็นความสำคัญ เริ่มต้นให้เร็วที่สุดได้ตั้งแต่ขวบปีแรก และทำให้สม่ำเสมอ ให้เวลาที่มีเป็นเวลาคุณภาพ และเป็นตัวอย่างที่ดี ลูกของคุณก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และประสบความสำเร็จในชีวิต
การสร้างวินัยเป็นกระบวนการซับซ้อน อย่ามัวฝึกวินัยผิดวิธีอยู่เลย
พ่อแม่ที่อยากสร้างลูกให้ดี แนะนำหลักสูตรออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี”