ลูกขี้น้อยใจ พ่อแม่ทำยังไงดี?

เรื่องน้อยใจ ไม่ว่าใครก็เป็นกันทั้งนั้น แม้กระทั่งเจ้าตัวเล็กเอง เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น เด็กๆ ก็มักจะแสดงออกทางด้านอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางเรื่องก็เกิดจากคุณพ่อคุณแม่เอง ที่บางครั้งก็ขัดใจลูกบ้าง สอนเขาหรือตำหนิเขาบ้าง จนทำให้ลูกเกิดความน้อยใจขึ้นมานั้นเอง คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ แต่หากมองถึงอนาคตนั้นพฤติกรรมขี้น้อยใจนี้อาจจะส่งผลเสียต่อลูกได้เหมือนกันนะคะ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมือยังไงบ้างล่ะ ไปดูกันเลย
ทำไมลูกขี้น้อยใจ?
มีผู้ปกครองถามมาว่า ทำไมลูกขี้ใจน้อย? เวลาใจน้อยก็มีอะไรนิดนึงก็จะร้องไห้ น้ำตาไหลแล้วก็บ่นว่าพ่อแม่ไม่รัก ผู้ปกครองก็สงสัยว่า เราก็รักลูกดีนีนารักเท่ากันทุกคนแล้วทำไมลูกมาใจน้อย แล้วหาว่าไม่รักเขา..
อันนี้อาจารย์จะตอบอย่างนี้ค่ะ
พ่อแม่ที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน ลูกจะคอยสอดส่ายสายตาดูว่าพ่อแม่ทำยังไงเขาเก็บบันทึกในความคิดของเขาว่าพ่อแม่กอดใครมากกว่า พ่อแม่ให้ขนมใครชิ้นโตกว่าใครได้ของใหม่กว่า ทำนองนี้แล้วเขาก็เปรียบเทียบพ่อแม่ดุใครมากกว่า.. พูดดีกับใครมากกว่า..
เขาก็จะเปรียบเทียบเขากับพี่ๆ น้องๆ ว่าใครเป็นคนโปรด ใครเป็นคนที่พ่อแม่รักมากกว่า ใครถูกรักน้อยกว่า อันนี้จะทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเองถ้าเกิดพ่อแม่ทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ลูกรู้สึกว่ามันไม่เท่ากัน
ความยากของการเป็นพ่อแม่ก็คือ
มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะทำให้กับลูกทุกคนเท่ากัน เพราะลูกแต่ละคนก็มีลักษณะนิสัยหรือว่าการกระทำที่แตกต่างกัน
ลูกบางคนก็เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย บางคนพูดยากมาก พ่อแม่ก็ต้องดุบ่อยๆ มาดุเข้าบ่อยๆ ลูกก็สงสัยทำไมถึงไม่ดุน้อง พ่อแม่รักน้องมากกว่ารักเขา แต่เด็กๆเขาก็ไม่ได้ทันคิดหรอกว่าเขาก็ไม่ค่อยเชื่อฟัง แล้วก็พูดยาก ก็เลยทำให้พ่อแม่ต้องดุ
อย่างว่านะคะเด็กๆ ยังคิดไม่เป็น เพราะฉะนั้นเด็กๆ ก็ให้เหตุผลตัวเองแบบง่ายๆ ว่าเขาคงเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้รัก
อันนี้ก็เริ่มทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ!
ความรู้สึกน้อยใจก็จะแทรกซึมอยู่ในชีวิตแล้วแสดงออกมาในปฏิกริยาแต่ละวัน มันก็จะออกมาเป็นลักษณะของการที่รู้สึกว่าโกรธง่าย หงุดหงิด ขี้โมโห ประท้วงบ้างบางครั้ง เด็กบางคนก็แยกตัว เด็กบางคนความรู้น้อยใจมากๆ ก็ซึมเศร้าไปเลย
อยากจะบอกพ่อแม่ค่ะ แม้ว่าคุณจะคิดว่าคุณรักลูกเท่ากันหมดทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณแสดงกับแต่ละคนแตกต่างกัน.. คุณควรจะยอมรับความรู้สึกต่อลูกที่มี เช่น ยอมรับว่าลูกคนนี้รู้สึกขาดรัก ลูกคนนี้รู้สึกว่าน้อยใจ มันเป็นความรู้สึกของเด็ก แล้วความรู้สึกเป็นของที่เกิดขึ้นจริง ในใจของเรา ในสมองของเรา เราไม่ได้สร้างมันขึ้นมา แบบอยากจะรู้สึกน้อยใจ ไม่ใช่อย่างนั้น มันเกิดขึ้นอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรจะตระหนักถึงความจริงที่ว่า เด็กๆ เกิดน้อยใจ เกิดรู้สึกขาดรักได้.. แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามทำเต็มที่
❌ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าทำให้พ่อแม่ผิดนะคะ แต่หมายความว่าพ่อแม่ต้องพยยามมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าเมื่อไหร่ลูกของคุณขี้ใจน้อย น้อยใจว่าคุณไม่รัก
สังเกตุและทบทวนปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก
ลองสังเกตุดูนะว่าคุณมีปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไร คุณอาจจะมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงตำหนิต่อว่าบ่อยกว่าที่คุณทำกับลูกคนอื่น เลยทำให้เด็กเปรียบเทียบได้
คุณอาจจะต้องจัดการแก้ปัญหานี้โดยการที่จะช่วยจัดการในเรื่องพฤติกรรมของเขาที่ดื้อ ไม่เชื่อฟัง (แนะนำอ่านหนังสือ สร้างวินัยในให้ลูกคุณ) ในแบบที่นุ่มนวลกว่าเดิม ในแบบที่เป็นการเตรียมไม่ใช่การบ่นว่า ในแบบที่มีความอดทนขึ้น เพราะว่าเวลาพ่อแม่ไม่ค่อยมีความอดทนหรือว่าเบรกแตกก็จะแสดงปฏิกริยาที่ไม่ดีกับลูก
แล้วเด็กๆ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดลึกมากว่าฉันเองเป็นต้นเหตุของการที่พ่อแม่ทำอย่างนั้น เด็กๆ ก็คิดง่ายๆ ว่าฉันคงไม่ดี ฉันคงไม่น่ารัก พ่อแม่ไม่รักฉัน
ขอให้ลองทบทวนปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับลูกว่าเราทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคงในความรัก ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าคุณจะดุลูกไม่ได้ แต่หมายความว่าคุณคงจะต้องจัดการกับปัญหาที่มีระหว่างกันในแบบที่ใจเย็นขึ้นกว่าเดิม
ในแบบเชิงบวก ในแบบที่ให้กำลังใจ
แทนที่จะจัดการในแบบลบ ในแบบที่ทำให้รู้สึกด้อยค่า
ลูกขี้น้อยใจ ความรู้สึกน้อยใจเป็นของที่ต้องแก้
ความรู้สึกน้อยใจเป็นของที่ต้องแก้ อย่าทิ้งค้างเอาไว้ เพราะว่าพอทิ้งค้างเอาไว้มันก็ซึมลึกเข้าไปในใจของเด็ก มันทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าฉันไม่มีค่า ออกไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนก็อาจจะเอาความรู้สึกนี้ติดไปว่าฉันไม่มีค่า ไม่มีความหมายสำหรับเพื่อน แล้วมันก็กลายเป็นมุมมองกับตังเองว่า ฉันคงไม่ดีพอ ฉันไม่มีความหมาย ความรู้สึกพวกนี้นานๆ เข้าถ้ามันสะสมแล้วมันนำไปสู่บุคลิกภาพแบบซึมเศร้าได้ หรือบางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังเลยค่ะ
พอเจอเด็กที่มีความรู้สึกน้อยใจพ่อแม่แล้วเกิดภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ที่สำคัญมากก็คือ ถ้าไม่ได้แก้ความรู้สึกนี้ก็จะต่อเนื่องไปจนโต ลึกๆ บุคคลนั้นอาจจะมีความรู้สึกว่าฉันไม่มีคุณค่า ไม่มีใครรักฉันจริง
พอโตขึ้นเขาไปมีความรัก เขาไปมีคู่รัก เขาก็จะรู้สึกอย่างนี้แล้วก็สงสัยในความรักที่เขามีต่อกัน มันทำให้ชีวิตคู่เขามีปัญหาในอนาคตก็นำไปสู่ชีวิตครอบครัวที่มีปัญหา
ความรู้สึกมั่นคงในความรักของพ่อแม่ เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในตัวลูก ไม่งั้นมันก็ฝังลึกแล้วก็ส่งผลในอนาคต
อาจารย์เคยพูดกับพ่อแม่หลายคนว่า “คุณรู้ไหมความรู้สึกด้อยค่า รู้สึกพ่อแม่ไม่รัก มันค้างอยู่ในชีวิตของลูกไปจนกระทั่งลูกแก่เฒ่า จนกระทั่งเราเองผู้เป็นพ่อแม่ตายจากไปแล้ว ความรู้สึกด้อยค่านี้ยังอยู่ได้” เพราะฉะนั้นเราลองหันมาทบทวนดู ปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันในแต่ละวันว่ามันเป็นบวกหรือมันเป็นลบ มันเสริมสร้างหรือมันทำลายแล้วทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมนะคะ
เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านค่ะ ❤️
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง เทคนิคจัดการลูกอาละวาด
ลูกเอาแต่ใจ
สปอยล์ลูก