สอนลูกให้คุยกับตัวเอง (Self-Talk)

คุณเคยคุยกับตัวเองไหมคะ?
วันนี้อยากคุยถึงเรื่องสนุกๆ เรื่องหนึ่งนะคะที่ว่าถ้าสมมุติว่าทำให้ดีก็จะเป็นการที่ช่วยให้เราสามารถลดควาาตึงเครียดจัดการกับปัญหาที่มีอยู่ในใจได้ดีพอด้วย เรื่องนี้ก็คือเรื่องการคุยกับตัวเอง ในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Self-talk
เรื่องการคุยกับตัวเอง (Self-talk) เป็นของธรรมดาที่เราทุกคนทำอยู่ แต่เราอาจจะไม่ได้เคยนึกว่ามันมีประโยชน์อย่างไร..
ลองนึกถึงลูกเล็กเคยเห็นไหมคะว่า บางครั้งเวลาเขาเล่นเขาก็พูดกับตัวเอง
เดี๋ยวทำอันนี้ดีกว่า…
เดี๋ยวเอาตุ๊กตาใส่รถไปเที่ยว…อะไรทำนองนี้
แล้วพ่อแม่ก็จะมีคำถามว่า ที่ลูกพูดกับตัวเองมันปกติหรือเปล่า?
ลูกพูดกับตัวเองปกติหรือเปล่า?
จริงๆ จะบอกว่าปกติค่ะ คนเราตอนเล็กๆ เราก็มีความคิด แต่เรายังคิดในใจไม่เป็น เพราะฉะนั้นในตอนเล็กๆ ก็จะเป็นเสียงเหมือนพูดกับตัวเองว่าเราน่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้ เวลาที่ยังเป็นเด็กมากๆ เลย ก็อาจจะเป็นเสียงพูดกับตัวเองในแบบว่าเลียนแบบคุณแม่มา เช่น แม่สั่งว่าอย่างไรเด็กมาพูดซ้ำ เพื่อจะบอกตัวเองว่าเขาน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็อาจจะเป็นถ้อยคำในนิทาน หรือในเพลงที่พ่อแม่สอน นั่นเป็นในเด็กเล็กๆ
พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย เขาก็จะพูดกับตัวเองในแบบที่เหมือนกับแนะนำตัวเอง ว่าเขาน่าจะทำอะไรบ้าง เดี๋ยวน่าจะทำการบ้านให้เสร็จนะ จะได้ไปเล่นข้างนอก นี่ก็เป็นสิ่งที่เด็กพูดกับตัวเองขึ้นมา ก็ยังพูดออกมาเสียงดังเหมือนกัน
พอเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย เด็กก็จะเริ่มสามารถที่จะพูดเป็นลักษณะของความคิด เราเรียกว่าเป็น internalized thought พูด(คิด)ในใจ
พูด(คิด)ในใจ คือความคิดที่แทนที่จะออกไปข้างนอกก็อยู่ในหัวสมองก็จะบอกกับตัวเองว่าฉันน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็จะเป็นลักษณะของสนทนากับตัวเองแบบ inner dialogue ก็คือบทสนทนา คุณลองสังเกตุกับตัวเองดูว่าคุณเองก็พูดกับตัวเองอย่างนั้นเหมือนกัน
การพูดกับตัวเองมีประโยชน์อย่างไร?
ถ้าพูดกับตัวเองในแบบที่ดีในเชิงบวก ในเชิงที่สร้างความหวังก็จะทำให้เราจัดการกับเรื่องที่อึดอัดใจได้ดี แต่พูดกับตัวเองในเชิงลบก็จะทำให้ปัญหายิ่งเกิดขึ้น
โดยทั่วไปพอเราโตขึ้นมาเราจะสามารถที่จะมีโลกส่วนตัว สิ่งต่างๆ จะซ่อนอยู่ในความคิด ความรู้สึกนึกคิดของเรา แล้วคนอื่นก็อ่านไม่ออก ในส่วนนี้ถ้าเราทำให้มันดี มันก็จะออกมาเป็นอะไรที่ดี
สมมุติว่าเรามีความตึงเครียด แล้วเราก็พูดกับตัวเองในความคิด บอกตัวเองว่า..
ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวปัญหามันดีขึ้น ไม่เป็นไรหรอกฉันค่อยแก้ปัญหานี้วันพรุ่งนี้ วันนี้ทำงานอื่นก่อน
✔ นี่คือวิธีการที่พูดกับตัวเองในแบบที่ว่า ให้เรามีกำลังใจแล้วให้เรารู้ว่าเราจะแก้ปัญหาเมื่อไหร่ ถ้าเราพูดกับตัวเองในแบบที่ Negative เช่น แย่จริงๆ นะ ทำไมเป็นอย่างนี้นะ เราหลายคนพูดแบบนี้ใช่ไหมคะ เราก็จะยิ่งรู้สึกแย่
ประเด็นสำคัญคือ คนเราต้องหัดพูดกับตัวเองเชิงบวก (Positive Self-talk) เมื่อพูดกับตัวเองเชิงบวก ก็จะทำให้เราสงบลงความเครียดลดลง ทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้ความวุ่นวายที่เราเรียกว่าลูป หรือวงซ้ำไปซ้ำมาในสมองส่วนลิมบิก (Limbic system) ที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ หรืออารมณ์ที่มันวุ่นวายใจ การพูดกับตัวเองให้ดีจะทำให้ลูปอันนี้หยุด
พ่อแม่ควรสอนลูกให้พูดเชิงบวก!
พ่อแม่ควรจะสอนเด็กในการพูดกับตัวเองให้บวกขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกสอบวิชานี้ได้คะแนนแย่มาก คุณครูเรียกไปดุ พ่อแม่อาจจะสอนลูกให้พูดกับตัวเองว่า..
“เราก็ต้องบอกตัวเองนะว่า คราวนี้ผ่านไปแล้วเราแก้ไขไม่ได้ แต่คราวหน้าเราจะเตรียมตัวท่องหนังสือให้ดี คะแนนจะได้ดี”
เมื่อพ่อแม่สอนเด็กวิธีนี้ ลูกก็ต้องบอกกับตัวเองอย่างนี้นะ เด็กก็จะเอาคำพูดนี้เข้าไปในใจของเขาแล้วก็หัดพูดกับตัวเองเมื่อคุณครูดุเขาว่าเธอทำไมทำคะแนนไม่ดีเลย
เด็กก็จะบอกตัวเองว่า คราวนี้ถูกครูดุแต่ว่าเดี๋ยวคราวหน้าเราจะตั้งใจใหม่ ก็จะทำให้เขาสงบใจลงไม่รู้สึกแย่ แล้วจะรู้สึกมีความหวัง
บางทีพ่อแม่ก็อาจจะสอนเด็กว่าปัญหาอะไรๆ ก็ถ้าคิดดีๆ มันก็แก้ได้เสมอ เด็กก็จะจำคำพูดนี้ไปแล้วเด็กก็จะบอกตัวเองว่าเขามีปัญหาเยอะ เมื่อเขาโตขึ้นแล้วไม่มีใครช่วยความคิดนี้ก็จะเกิดขึ้นในใจของเขา เขาจะบอกตัวเองว่าเดี๋ยวปัญหาก็แก้ได้ค่อยๆ คิดก็แล้วกัน อย่ากลุ้มใจไปเลย เราบอกกับตัวเองไม่ได้มีคนมาบอกเราแต่เราหัดบอกกับตัวเอง..
วันนี้ลองลิสดูว่าคุณจะสอนลูกอย่างไรให้พูดกับตัวเองในเชิงบวก ที่จะให้มีกำลังใจที่จะทำให้ไม่เสียใจเกินไป ไม่เศร้าเกินไปแล้วรู้ว่าเขาสามารถแก้ปัญหาได้ค่ะ
เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกท่านค่ะ ❤️
ขอแนะนำบทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี” และหนังสือ “เซตสร้างลูก”