บทความเกี่ยวกับสังคม

อะไรที่ทนไม่ไหวที่สุด

ทนไม่ไหวที่สุด

เกิดเป็นคนไทยก็ต้องอดทน อดทนจนเป็นสันดาน จนเป็นนิสัย จนอยู่ในสายเลือด
แต่วันนี้ทนไม่ไหวแล้ว!

อยากรู้ว่าคนอื่น ทนไหวมั้ย????

มีให้เลือกว่า อะไรที่ทนไม่ไหวที่สุด

ก. คนผิดที่หนีโทษ
ข. ตำรวจที่รับสินบน
ค. ตาชั่งที่เอนเอียง
ง. จิตแพทย์ที่ขี้บ่น

ดูซิ ใจตรงกันไหม!

เฉลย

อันนี้ใครคิดต่างก็อย่าต่อว่ากันนะคะ (บอกเอาไว้ล่วงหน้า เพราะแค่ตั้งคำถามชวนให้คิด ก็โดนคนต่อว่าเอาเสียแล้ว!)

ตัวเลือกแต่ละข้อ อาจารย์วิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีของMaslow แนวคิดทาง Positive psychology แนวคิดของปราชญ์โบราณ Plato และสุดท้ายก็คือความเห็นส่วนตัว

ตามแนวคิดของ Maslow มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานที่จำเป็น (basic human needs) อันดับแรกคือ ความต้องการทางสรีระ (physiological needs) เช่น ต้องการอากาศ น้ำอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค อันดับสูงขึ้นมาคือต้องการความปลอดภัย (safety needs) สูงขึ้นไปอีกก็คือต้องการความรักและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (love and belonging) ต่อไปเป็น ความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem) สูงขึ้นอีกคือ ความรู้สึกว่าตนใช้ศักยภาพเต็มที่ เป็นในแบบที่ดีที่สุดที่ตนสามารถเป็นได้ (self-actualization) และขั้นสูงสุดคือ transcendence ซึ่งมีความหมายค่อนข้างซับซ้อน แต่อาจพูดง่ายๆว่าเป็นการก้าวข้ามความเป็น “ตัวฉัน” ละอัตตา ละตัวตน และนึกถึงผู้อื่น นึกถึงส่วนรวม ทำนองนั้น

ข้อ ก. คนผิดที่หนีโทษ

ข้อนี้เป็นของที่เราคุ้นเคย เมื่อลูกเล็กๆทำผิดก็อาจจะไปแอบซ่อนอยู่ในตู้เพราะกลัวถูกตี ถ้าลูกแอบหยิบของเพื่อน เมื่อพ่อแม่ถาม ลูกก็บอกว่าไม่ได้หยิบ เพราะกลัวถูกพ่อแม่ทำโทษ การกระทำที่หนีบทลงโทษนี้ในมุมมองของอาจารย์เป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานข้อ 2 คือต้องการความปลอดภัย

ความต้องการความปลอดภัย ส่วนตัวอาจารย์คิดว่าเป็นความต้องการที่ไม่ได้มีผลกระทบกว้าง มีผลแค่ระหว่างคนที่ทำผิดกับผู้ที่ถูกกระทำเท่านั้น ข้อนี้พอทนได้

ข้อ ข. ตำรวจรับสินบน

อาจารย์คิดว่าการกระทำนี้ก็เพื่อตอบสนอง ความต้องการระดับที่ 1 การพยายามให้ได้มาซึ่งเงินทองเยอะๆ ก็เพื่อชีวิตที่สะดวกสบาย นั่นก็เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่กระทบคนในวงกว้าง (ยกเว้นการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่น) ข้อนี้ก็พอทนได้อีกนั่นแหละ แต่อย่าให้มันมากเกินไปก็แล้วกัน!

ข้อ ค. ตาชั่งที่เอนเอียง

วลีนี้อาจารย์หมายถึงผู้มีหน้าที่สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ได้ทำหน้าที่ของตน

ดูผิวเผิน เราอาจนึกถึงกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง ซึ่งรวมความตั้งแต่ตำรวจ ทนาย อัยการและศาล (บางคนคิดว่าความยุติธรรมหรือตาชั่งหมายถึงศาลเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่)

แต่ถ้าดูให้ลึก จะตระหนักว่าคนเราทุกคนมีตาชั่งอยู่ในหัวใจ
ในแง่นี้ คนทำผิด ตำรวจ ทนาย อัยการ ศาล ก็มีตาชั่ง (รวมทั้งตัวเราเองด้วย) ถ้าตาชั่งไม่เอนเอียง คดีนี้หรือคดีไหนๆ ก็คงจะไม่เป็นอย่างที่เป็นมา

ความยุติธรรมคืออะไร? ความยุติธรรมคือการบอกว่า สิ่งผิดคือผิด และสิ่งถูกคือถูก และทำให้แต่ละสิ่งได้รับผลลัพธ์ที่มันควรจะได้ ( นิยามนี้ อาจารย์คิดเองให้เข้าใจง่ายๆ อาจไม่สวยงามครบถ้วนเท่าคำอธิบายทางนิติศาสตร์หรือปรัชญา)

ในทาง Positive psychology ความยุติธรรมเป็นลักษณะชีวิตที่ดี (good character) ที่ควรสร้างขึ้นในตัวของทุกคน ลักษณะชีวิตที่ดีมีหลายอย่าง เช่น ความซื่อสัตย์ ความอดทน ความกระตือรือล้น ความมุ่งมั่น ฯลฯ การมี good character หรือลักษณะชีวิตที่ดี ยิ่งมีหลายลักษณะก็จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขและมีความหมาย

ความยุติธรรม เป็นลักษณะชีวิตที่แตกต่างจากอันอื่น เพราะมันมีผลกระทบต่อผู้อื่น ความมุ่งมั่นอาจส่งผลแค่ให้ตัวของเราประสบความสำเร็จ แต่ความยุติธรรมทำให้สังคมสงบสุข ส่วนตัวอาจารย์คิดว่า ความยุติธรรมเป็นลักษณะชีวิตขั้นสูง เพราะคุณจะมีความยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อคุณมีความซื่อสัตย์ คุณมีความรู้จักผิดชอบชั่วดี มีความกล้าหาญ และคุณละทิ้งอัตตาได้ (พอมาถึงตรงนี้ก็เลยได้คำตอบว่าทำไมการผดุงความยุติธรรมเอาไว้จึงเป็นของยาก)

คนที่มีความยุติธรรมถือว่าได้ก้าวไปสู่ขั้นสูงสุดของชีวิตคือ transcendence เพราะมันต้องละ “ตัวตน”ได้ จึงจะธำรงความยุติธรรมไว้ได้อย่างแท้จริง

อาจารย์เลือกข้อ ค.

เพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ผดุงสังคมให้สงบสุข ให้เป็นปึกแผ่น ให้เข้มแข็ง และที่สำคัญ มันธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานทางศีลธรรมจรรยา ทำให้ผู้คนมีหลักยึด มีบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตร่วมกัน

จิตวิทยาจัดความยุติธรรมเป็นเพียง “ลักษณะชีวิต” แต่ปราชญ์ Plato ถือว่า มันเป็น “คุณธรรมหรือความดีงาม” (virtue) เพราะมันเป็นต้นกำเนิดของสังคมที่สงบสุขและดีงาม

ดังนั้น อาจารย์คิดว่า ทนอะไรก็พอทนได้ แต่ถ้าตาชั่งเอนเอียง ฉันทนไม่ได้
เพราะถ้าทนได้ ยอมรับมัน ตัวฉันเองก็จะชินชาและคิดว่ามันเป็นสิ่งที่โอเค
ซึ่งเท่ากับว่าฉันส่งเสริมความอยุติธรรมให้งอกงามในสังคม

Similar Posts