บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น | บทความเกี่ยวกับสังคม

ลูกอยากไปม็อบ ทำอย่างไรดี?

ลูกสาวอยากไปม๊อบทำไงดี

“ลูกอยากไปม็อบ แต่แม่ไม่อยากให้ไป พอพูดห้ามเท่านั้นก็ทะเลาะกันเลย แม่จะทำยังไงดี?”

นี่เป็นคำถามที่เขียนมาใน inbox อันที่จริงมีผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้เยอะมากแล้ว อาจารย์ขอตอบสั้นๆก็แล้วกัน

1.ความขัดแย้งระหว่างพ่อ-แม่-ลูกเป็นสิ่งปกติธรรมดา เกิดขึ้นเป็นประจำ ในบางบ้านขัดแย้งกันได้ทุกวัน

2. สาเหตุที่ความคิดเกี่ยวกับการเมืองในวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวมีความเข้มข้นมากในเวลานี้ มีหลายปัจจัย (อันนี้ละไว้ฐานเข้าใจ) แต่ปัจจัยหนึ่งคือ คนกลุ่มนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ค้นหาความจริงของชีวิต และค้นหาอุดมคติ (จุดนี้ขออธิบายคราวหน้า)

3. จะจัดการกับความขัดแย้งเรื่องนี้ให้ดีพอได้อย่างไร? คำตอบคือ ขอให้เริ่มต้นที่ทัศนคติก่อน คือต้องมองว่ามันเป็นความท้าทายที่พ่อแม่จะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ และทำให้เกิดประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ขึ้นกับลูก

4.ฉวยโอกาสนี้สอนลูกถึงวิธีจัดการกับความขัดแย้ง ในเชิงบวก กล่าวคือจบด้วยความสัมพันธ์ที่ดี ด้วยการเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น ด้วยโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ไม่ใช่จบด้วยความสัมพันธ์ที่แย่ลงและการถอยห่างจากกัน

5. พ่อแม่จะสอนอะไรลูกได้บ้างในการพูดคุยกันเรื่องนี้? คำตอบคือ คุณสอนได้หลายอย่างเลยหละ (ทำตามทีละข้อเลยนะคะ)

  • การควบคุมอารมณ์ 
  • การรับฟัง แบบตั้งใจ active listening
  • การมีใจที่เปิดกว้าง
  • การไม่ตำหนิหรือตัดสินกันแบบผิวเผิน
  • การทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดในแบบที่ลึกซึ้งพอ
  • การพูดอย่างมีทักษะ โน้มน้าวให้คนคิดตามและซื้อไอเดียของเราในกรณีที่เราคิดว่าความคิดของเราเป็นสิ่งที่เข้าท่า
  • การยอมเสี่ยง ให้ลูกได้เรียนรู้ ด้วยตัวของเขาเอง หากเขาเลือกทำตามที่เขาตัดสินใจ (ในกรณีนี้ พ่อแม่อาจไปเป็นเพื่อนลูกก็ได้ เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน)
  • การยอมรับนับถือลูกในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งที่แตกต่างจากเรา ลูกไม่ใช่ส่วนขยายของพ่อแม่ เขามีชีวิตของเขา และมีความคิดที่แตกต่างจากเราได้
  • การชี้นำหรือไกด์ (guide) ลูกอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จูงจมูกครอบงำความคิด เพราะคิดว่าพ่อแม่คือผู้ที่รู้ดีที่สุดในทุกอย่าง

คราวหน้าเวลาคุยกันเรื่องนี้ ใครอยู่ฝ่ายใคร? ลูกอยากไปม็อบเพราะอะไร? ควรไปร่วมชุมนุมหรือไม่ควรไป? ให้ฉวยโอกาสสร้างสิ่งดีๆขึ้นมา โดยการ

  • คุมอารมณ์ อย่าโมโหไปล่วงหน้า
  • เปิดใจให้กว้าง
  • ตั้งใจฟังลูก อย่าขัดคอ
  • ลูกพูดจบ ก็ให้ลูกยอสักนิด (อืม! ที่ลูกพูดมาก็ดูมีเหตุผลนะ ฟังดูเข้าท่านะ ฟังดูความคิดลึกซึ้งดีนะ- อันนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณเห็นด้วย แต่คุณต้องการทำให้ลูกรู้ว่าคุณ respect หรือนับถือความคิดของเขา)
  • พอถึงจุดนี้ ลูกน่าจะพร้อมที่จะฟังคุณ คุณก็จงบอกมุมมองของคุณ ด้วยเหตุผลที่ดีพอ ไม่ใช่แบบกำปั้นทุบดินนะ)

ทั้งหมดนี้ สามารถเอาไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆด้วยก็ได้ เช่น อยากออกไปนอนค้างบ้านเพื่อน อยากออกไปอยู่หอพักคอนโดตามลำพัง อยากไปปาร์ตี้ดึก อยากดรอปเรียน ฯลฯ

จำไว้ ทะเลาะกับลูกน่ะ พ่อแม่มีแต่แพ้ คุยกันดีๆ ดีกว่านะโชคดีค่ะ

Similar Posts