บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก

ลูกร้องไห้เสียใจ จะตอบอย่างไรดี?

ลูกร้องไห้ตอบอย่างไรดี

 เด็กประถมคนหนึ่งย้ายโรงเรียน วันแรกในห้องเรียนใหม่เพื่อนพูดว่า ‘เธอนี่โง่จัง คิดเลขแค่นี้ก็ไม่ได้’
พอตอนเย็นเจอหน้าแม่ เจ้าหนูร้องไห้โฮ แม่ถามว่าร้องไห้ทำไม เจ้าหนูเล่าเรื่องให้ฟัง

14 ข้อ เมื่อลูกถูกเพื่อนทำให้ร้องไห้ คุณจะเลือกตอบลูกข้อไหน?

1. เรื่องเล็กนิดเดียว ไม่น่าร้องเลย
2. เพื่อนลูกนี่แย่จริง อย่าไปฟังเขาเลย
3. เพื่อนเขายังไม่รู้จักลูกดี อีกหน่อยเขาก็จะรู้ว่าลูกแม่น่ะเก่ง
4. อย่าร้องเลย ไปกินขนมกันดีกว่า
5. สมน้ำหน้า แม่บอกหลายครั้งว่าให้หัดคิดเลข ก็ไม่ยอมทำ
6. เพื่อนเขาพูดถูกแล้ว ก็หนูสอบตกเลขทุกครั้งเลย
7. นี่ไง เพราะมัวแต่่เล่นเกม ก็เลยโดนเขาดูถูก
8. คนเราแต่ละคนก็เก่งไปคนละอย่าง หนูไม่เก่งเลข แต่หนูระบายสีเก่งออก
9. แม่ก็เคยถูกเพื่อนว่าตอนเป็นเด็ก แต่แม่ก็สอบผ่านทุกที อย่าไปเสียใจเลย
10. เพื่อนคนนี้พ่อแม่ไม่สั่งสอน อย่าไปคบเลย
11. แม่รู้ว่าหนูเสียใจ แต่เด็กผู้ชาย เขาไม่ร้องไห้กันนะ
12. ร้องไห้ให้พอ สบายใจแล้วไปกินขนมกัน
13. หนูไม่เก่งเลข มันเป็นความจริงนะลูก หนูต้องหัดยอมรับมัน
14. เพื่อนเขาพูดเพ้อเจ้อ ลูกแม่เก่งออก เพียงแต่ออมฝีมือเท่านั้น

คุณเลือกข้อไหนคะ? ถ้าเลือกได้แล้ว อาจารย์จะวิเคราะห์ให้ฟังว่าแต่ละวิธี มีผลต่อลูกอย่างไร

เฉลย เมื่อลูกร้องไห้ การคำตอบแต่ละอย่างมีผลดังนี้

กลุ่มที่ 1 – ทัศนคติที่ไม่ยอมรับความรู้สึก

ตอบข้อ 1. เรื่องเล็กนิดเดียวไม่น่าร้องเลย
4. อย่าร้องเลย ไปกินขนมกันดีกว่า
12. ร้องไห้ให้พอ สบายใจแล้วไปกินขนมกัน

 สามข้อนี้ดูเหมือนเป็นการปลอบ แต่แสดงถึงทัศนคติที่ไม่ยอมรับความรู้สึก พูดแบบนี้เหมือนการตัดบทไม่ให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมา ทำให้เด็กรู้สึกว่าพูดเรื่องแย่ๆ กับพ่อแม่ไม่ได้

กลุ่มที่ 2 – ทัศนคติตำหนิ และโทษผู้อื่น

ข้อ 2. เพื่อนลูกนี่แย่จริง อย่าไปฟังเขาเลย
10. เพื่อนคนนี้พ่อแม่ไม่สั่งสอน อย่าไปคบเลย
14. เพื่อนเขาพูดเพ้อเจ้อ….

สามข้อนี้แสดงถึงทัศนคติตำหนิ และโทษผู้อื่น มันจะทำให้ลูกไม่หันมารับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ลูกไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทัศนคติแบบนี้เป็นอันตราย มันเป็นการปลูกฝังอุปนิสัยไม่รับผิดชอบและโทษคนอื่น

กลุ่มที่ 3 – คำตอบที่ดีพอใช้ (หากเป็นจริง)

ข้อ 3. เพื่อนเขายังไม่รู้จักลูกดี อีกหน่อยเขาก็จะรู้ว่าลูกแม่น่ะเก่ง

ข้อนี้เป็นคำตอบที่ดีหากลูกของคุณเก่งจริงๆ

กลุ่มที่ 4 – คำตอบแบบซ้ำเติม เด็กจะไม่เล่าให้คุณฟังอีก

ข้อ 5. สมน้ำหน้า แม่บอกหลายครั้งว่าให้หัดคิดเลขก็ไม่ยอมทำ
6. เพื่อนเขาพูดถูกแล้ว ก็หนูสอบตกเลขทุกครั้งเลย
7. นี่ไง เพราะมัวแต่เล่นเกม ก็เลยโดนเขาดูถูก

 พ่อแม่ที่พูดแบบนี้อาจจะอึดอัดใจที่ลูกไม่เชื่อฟัง ตอนนี้จึงถือโอกาส ‘ซ้ำเติม’ เสียเลย พูดแบบนี้จะทำให้เด็กโกรธ แต่ที่แย่กว่าคือเด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ทีหลังเด็กอาจจะไม่เล่าเรื่องอะไรให้พ่อแม่ฟังเลย

กลุ่มที่ 5 – คำตอบที่ดีมาก แต่อย่าหยุดแค่นั้น

ข้อ 8. คนเราแต่ละคนก็เก่งไปคนละอย่าง หนูไม่เก่งเลขแต่หนูระบายสีเก่งออก

📌 ข้อนี้เป็นคำตอบที่ดีมาก ทำให้ลูกสามารถมองเห็นจุดดีของตัวเองได้ แต่ถ้าหยุดเพียงเท่านั้นและไม่ช่วยให้ลูกมีแผนชัดเจนในการที่จะทำเลขให้เก่งขึ้น มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาของลูกอย่างจริงจัง และในที่สุดเด็กจะพบว่าการระบายสีเก่งก็ไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่

กลุ่มที่ 6 – คำตอบนี้ ทำให้เก็บกดความรู้สึก

ข้อ 11. แม่รู้ว่าหนูเสียใจ แต่เด็กผู้ชายเขาไม่ร้องไห้กันนะ

📌 พูดแบบนี้จะทำให้เด็กเก็บกดความรู้สึก อย่าลืมว่าเด็กผู้ชายก็ร้องไห้ได้

กลุ่มที่ 7- คำตอบที่ดีมาก แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

ข้อ 9. แม่ก็เคยถูกเพื่อนว่าตอนเป็นเด็ก แต่แม่ก็สอบผ่านทุกที อย่าไปเสียใจเลย

📌 เป็นคำพูดที่ฟังดูดีมากเหมือนกัน แต่มันไม่ได้ช่วยให้เด็กแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คำปลอบแบบนี้เหมือนเวลาผิวหนังอักเสบ แล้วเราเพียงแต่เอาสบู่ล้าง เอาพลาสเตอร์ปิด แต่ไม่ได้บ่งหนองออก

กลุ่มที่ 9- ทัศนคติตำหนิแบบ fixed mindset

ข้อ 13. หนูไม่เก่งเลข มันเป็นความจริงนะลูก หนูต้องหัดยอมรับมัน

📌 นี่เป็นทัศนคติแบบ fixed mindset แน่นอนบางครั้งเราต้องช่วยให้ลูกยอมรับจุดอ่อนของตัวเอง แต่การจะยอมรับนั้นควรเกิดขึ้นเมื่อได้พยายามทุกวิถีทางแล้ว ในกรณีนี้เด็กยังเล็ก ยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก

สิ่งที่สำคัญที่สุด ในการตอบลูกเมื่อร้องไห้เสียใจหรือผิดหวังคือ คือ

1. รับรู้ความรู้สึก
2. ชวนลูกคิดว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน
3. ติดตามให้ลูกแก้ปัญหานั้นอย่างจริงจัง

ถ้าเพียงแต่ปลอบใจ ก็จะต้องเสียน้ำตาอีกในที่สุด!

🔸 แนะนำบทเรียนออนไลน์ “เลี้ยงลูกใหม่ ปั้นให้ดี” แล้วคุณจะเข้าใจบทบาทของตนเอง และเข้าใจลูกมากขึ้น!
🔸

Similar Posts