บทความเลี้ยงลูกวัยรุ่น | บทความเลี้ยงลูกวัยเด็ก

จดหมายถึงคุณพ่อ (กรณีพ่อโพสต์ทำลายโมเดล Hot Wheels ลูก)

พ่อโพสต์ทำลายโมเดล

สวัสดีค่ะคุณพ่อ
ได้อ่านโพสต์ของคุณจากเวปหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ตอนท้ายคุณตั้งคำถามว่า “คนเป็นพ่ออย่างผมผิดมากใช่ไหมครับ?”

คุณไม่ได้ถามอาจารย์ แต่อาจารย์อยากตอบค่ะ อยากตอบว่าในมุมมองของอาจารย์ ที่เป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้เขียนหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” ซึ่งขายมาร่วมแสนเล่มแล้ว และที่สำคัญคือเคยเป็นแม่คนมาก่อน อาจารย์คิดว่าคุณไม่ได้ทำผิดค่ะ

คุณกำลังทำในสิ่งที่พ่อแม่ที่กล้าหาญเท่านั้นที่จะทำได้ เพียงแต่คุณอาจจะต้องปรับเทคนิคสักเล็กน้อย

พ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูก แต่ไม่กล้าหาญพอที่จะจัดการสร้างวินัยอย่างหนักแน่น

เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็เพราะเขากลัว เขากลัวว่าลูกจะไม่รัก กลัวว่าตัวเองจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ กลัวว่าลูกจะมีบาดแผลทางใจ กลัว กลัว กลัว

ผลลัพธ์ของมันก็คือเด็กกลายเป็นเหมือนม้าป่าที่ฝึกไม่ได้ มันพยศในแบบที่เป็นอันตราย ทั้งต่อเจ้าของ ผู้ฝึก คนมากมายที่มาเข้าใกล้มัน และที่สำคัญคืออันตรายต่อตัวมันเอง

สังคมเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยเด็กที่ขาดวินัย เขาควบคุมตัวเองไม่เป็น เขาสั่งตัวเองว่า “พอแล้ว” “หยุดได้แล้ว” ไม่ได้ เขาทำตามอำเภอใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เคารพกฎระเบียบ ปราศจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และปราศจากความรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้เพียงเพราะพ่อแม่ไม่กล้าหาญพอหรือไม่ก็ล้มเลิกง่ายๆ ในการฝึกวินัยลูก

อาจารย์คิดว่าสิ่งสำคัญมากที่เด็กต้องเรียนรู้ในชีวิตวัยเด็ก หากเราต้องการให้เขาเติบโตไปดีก็คือเรียนรู้เรื่องผลลัพธ์ของการกระทำและความรับผิดชอบ พ่อแม่จะต้องเป็นผู้สอนเรื่องนี้ อย่าคิดว่าเขาจะเรียนรู้เอง หรือโรงเรียนจะสอนเขาแทน หากเราปล่อยไป วันหนึ่งเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเรียนรู้เรื่องนี้จากกฎหมายและกฏเกณฑ์ของสังคม แต่มันจะเป็นการเรียนรู้ที่แสนจะเจ็บปวด

ให้เขาร้องไห้วันนี้ เมื่อบทลงโทษยังไม่รุนแรง เมื่อบาดแผลยังไม่ลึกเท่าไหร่ เพราะคนที่ลงโทษเขาคือพ่อแม่ที่รักเขา

อาจารย์ไม่คิดว่าคุณเป็นคนหัวร้อน วิธีการเขียนโพสต์ของคุณบอกว่าคุณเป็นคนมีเหตุผลพอ ไม่ใช่พ่อแม่ที่ขี้โมโหและใช้อำนาจเผด็จการกับลูก อาจารย์เชื่อว่าคุณได้เตือนลูกมาหลายครั้งแล้ว แต่ลูกไม่ฟัง บางครั้งท่าทีของเราอาจไม่หนักแน่นพอจนทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง และไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามคำสั่ง ความไม่หนักแน่นนี้เองที่มักเป็นสาเหตุทำให้หลายบ้านลงเอยด้วยการต้องทำโทษลูกรุนแรง

เด็กหลายคนก็เป็นเด็กที่ “ยาก” เด็กแบบนี้แม้พ่อแม่ที่อดทนมากที่สุด หรือมีเทคนิคที่ดีที่สุด ก็ยังต้องจนปัญญา (เด็กแบบนี้ทางการแพทย์มีชื่อเรียกโดยเฉพาะเลย คือเป็นโรค oppositional defiant disorder)

ที่สำคัญ ไม่มีพ่อแม่คนไหนมีความสุขจากการลงโทษลูก เรามีภาพของการลงโทษว่าเป็นการ “ทำร้าย” ดังนั้นแม้การลงโทษนั้นจะมีเหตุผลที่สุด แต่เราก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจที่จะทำลงไป และหลายครั้ง เราเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าลูกอีก อาจารย์จำได้ว่า สมัยลูกยังเล็ก อาจารย์เคยใช้ไม้บรรทัดตีลูก อาจารย์ไม่ได้ตีแปะๆเบาๆ แต่ตีแรง เพื่อให้ลูกรู้ว่าแม่เอาจริง ลูกร้องไห้เพราะเจ็บเนื้อแต่อาจารย์รู้สึกว่าตัวเองร้องไห้อยู่ข้างใน เพราะปวดใจที่ต้องลงโทษลูกอย่างนั้น ไม่ถึงชั่วโมง ลูกก็ยิ้มแล้วไปเล่นต่อ แต่หัวใจของแม่ยังคงร้องไห้ต่ออีกหลายวัน

เวลานี้คุณก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน คุณคงเจ็บปวดหัวใจที่ทำแบบนั้นกับลูกที่คุณรัก อาจารย์เชื่อว่าคุณรักและเป็นห่วงเขามาก แต่คุณสุดทางแล้วจริงๆ

อย่าวิตกกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นบาดแผลทางใจของลูกไปจนวันตาย มันไม่เป็นแบบนั้นหรอกค่ะ ในประสบการณ์ที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นมากว่าสามสิบปี อาจารย์บอกได้เลยว่า พ่อแม่อย่างเราๆน่ะ ไม่สร้างบาดแผลทางใจแบบนั้นหรอก เพราะการดูแลลูกโดยรวมของเราดีพอ เราให้ความรักความอบอุ่นกับเขามากพอ ประสบการณ์ที่เขามีกับเราเป็นประสบการณ์เชิงบวกมากกว่าเชิงลบ แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ลูกจำได้ว่าครั้งหนึ่งพ่อโกรธเขามากจนทำลายของเล่นสุดรักของเขา แต่เมื่อเริ่มโตเขาจะสามารถบอกตัวเองได้ว่าที่พ่อทำแบบนี้เพราะพ่อรักเขา โดยทั่วไปแล้วในพัฒนาการปกติ เด็กจะสามารถมองภาพรวมๆของพ่อแม่ได้ ว่ามีทั้งใจดีและดุ มีทั้งรักและโกรธ เด็กจะสามารถประมวลทั้งขาวและดำออกมาเป็นสีเทาได้

อาจารย์เชื่อว่าหากคุณทำให้ทุกๆวันมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เขาจะไม่ติดอยู่กับเรื่องนี้ เขาอาจจะเหมือนคนหนุ่มสาวหลายคนที่อาจารย์ได้พบ เมื่อพูดถึงความทรงจำลบที่มีกับพ่อแม่ เขาสามารถพูดได้ว่า “แต่พอโตขึ้นเราก็รู้ว่าเขาทำแบบนั้นเพราะเขารักเรา ต้องขอบคุณเขาเสียอีกที่สอนเราจริงจัง ไม่ปล่อยให้เราทำสิ่งผิดๆ ไม่งั้นเราก็คงไม่มีวันนี้ที่เราประสบความสำเร็จ”

อาจารย์ขอแนะนำคุณว่า พักผ่อนสักนิด พอรุ่งขึ้นเมื่อค่อยสบายใจแล้วก็หาเวลาว่างๆคุยกับลูก คุยเรื่องความรู้สึกก่อน รับรู้ความรู้สึกเสียใจของลูก บอกลูกว่า “พ่อรู้ว่าลูกเสียใจ พ่อเองก็เสียใจที่ต้องทำอย่างนั้น เรามาตกลงกันใหม่ว่า ลูกจะแบ่งเวลาอย่างไร….” ขอให้ดูรายละเอียดวิธีจัดการอารมณ์ของลูกใน youtube channel ปั้นใหม่โดยอาจารย์หมออุมาพร และดูเทคนิคอื่นๆจากไลฟ์ วันที่ 23 สิงหาคมในเพจนี้

เขียนมายาวทีเดียววันนี้ ก่อนจบ ก็อยากจะบอกคุณอีกครั้งว่าขอให้มีกำลังใจ อ้อ! แล้วอย่าเสียกำลังใจเพราะความคิดเห็นหรือคำพูดของคนอื่น เรารู้ตัวดีที่สุดว่าเรากำลังทำอะไร คนอื่นอาจตัดสินว่าเราทำผิด นั่นเพราะเขาปรารถนาดี เขาเป็นห่วงลูกของคุณ แต่บางทีพ่อแม่ก็ต้องการกำลังใจนะ แต่หากไม่ได้กำลังใจจากคนอื่น ก็ให้กำลังใจตัวเองก็แล้วกัน ทำในสิ่งที่ต้องทำ อาจารย์เคยเจอเด็กฝรั่งคนหนึ่งร้องไห้จ้าที่สนามบิน เขาบอกให้พ่ออุ้ม แต่พ่อไม่ยอมอุ้ม พ่อบอกว่า “ลูกหยุดร้องก่อนแล้วพ่อจะอุ้ม” เด็กไม่ยอมหยุด ดูจะแหกปากร้องดังขึ้นเสียอีก ทุกคนหันมามองพ่อฝรั่งคนนี้ บางคนมองด้วยสายตาตำหนิ อาจารย์ได้ยินคนหนึ่งพูดวิจารณ์ว่า “ก็อุ้มๆซะก็หมดเรื่อง หนวกหูคนอื่น” อาจารย์นึกชมพ่อคนนี้อยู่ในใจที่เขาใจแข็งพอ เพราะหากเราดูให้ลึก จะรู้ว่ามันเป็นการต่อสู้กัน ที่เราเรียกว่า power struggle เด็กต้องการให้พ่อยอมเขา แต่ถ้าพ่อยอม เข้าไปอุ้มตามที่เขาต้องการ พ่อคนนี้จะคุมลูกไม่ได้เลย แล้วคิดดูสิว่าถ้าเข้าไปนั่งบนเครื่องบินแล้วร้องแบบนี้ จะแย่สักแค่ไหน

ต้องขอบคุณที่พ่อคนนี้ใจแข็งและกล้าหาญพอที่จะทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง

เรื่องของคุณทำให้อาจารย์นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดยนักจิตวิทยามีชื่อชาวอเมริกัน มันชื่อ

“Parenting is not for Cowards”

แปลเป็นไทยตรงตัวว่า การเลี้ยงลูกไม่ใช่สำหรับคนขี้ขลาด

ตั้งใจดีแล้ว แต่ขอให้มีเทคนิคอีกนิดนะคะ
อาจารย์หมออุมาพร

Similar Posts