บทความสำหรับบุคคล การพัฒนาตนเอง

ชีวิตเปลี่ยนใหม่ในรถเมล์!

ชีวิตเปลี่ยนใหม่โอกาสของทุกคน

ความตั้งใจเริ่มแรกในการเขียนหนังสือ “สร้างชีวิตใหม่” คือเขียนให้จิตแพทย์ เพราะอยากเห็นลูกศิษย์สามารถทำจิตบำบัดได้แบบมีทิศทาง คนไข้จะได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งโดยไม่ต้องใช้เวลานานเกินไป แต่เหตุการณ์นี้ทำให้อาจารย์คิดว่า

สร้างชีวิตใหม่ ควรเป็นโอกาสของคนทุกคน

วันหนึ่งมอบหมายให้นิสิตปริญญาโทสาขาสุขภาพจิตไปอ่าน “สร้างชีวิตใหม่” เป็นการบ้าน แล้วมาวิพากษ์กันว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง

สัปดาห์ต่อมาก็เข้าสอน จำได้ว่าวันนั้นเริ่มเรียนกันตอนเก้าโมงเช้า นิสิตคนหนึ่งมาสายประมาณครึ่งชั่วโมง พอเข้ามาในห้องก็หน้าแดงก่ำมาเลย จึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น เล่าให้เพื่อนฟังหน่อยได้ไหม (ชั่วโมงนั้นเป็นชั่วโมงเกี่ยวกับจิตบำบัด การค้นหาตัวเองและแชร์กับคนอื่นเป็นวิธีการเรียนรู้แบบหนึ่ง)

นิสิตเล่าว่า นั่งรถเมล์มาคณะแพทย์ ในระหว่างนั่งรถก็อ่านหนังสือสร้างชีวิตใหม่ไปด้วย ได้อ่านเคสหนึ่งที่อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือ เป็นเคสที่ลูกสาวผิดหวังในตัวพ่อ แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะเข้าใกล้ อยากจะรู้สึกรักพ่อได้เหมือนเดิม อยากจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอีกครั้ง แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

ในตอนหนึ่งอาจารย์พูดถึงการยกโทษให้พ่อ นิสิตอ่านแล้วร้องไห้ขึ้นมาในรถเมล์ แบบกลั้นไม่อยู่ (คนที่นั่งข้างๆในรถเมล์ก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น!) เพราะรู้สึกว่าเรื่องราวของเคสตัวอย่างนั้นตรงกับชีวิตของตัวเอง

เมื่ออาจารย์ถามเคสว่ายกโทษให้พ่อได้ไหม? เขาก็ถามตัวเองไปด้วย รู้สึก “อิน” ว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าอาจารย์ กำลังถูกอาจารย์อุมาพรทำจิตบำบัดอยู่ (ในรถเมล์นั่นเอง!)

และแล้ว เขาก็เกิด “หลุด” จากความโกรธความผิดหวังซึ่งผูกมัดเขาเอาไว้เป็นเวลายาวนาน

ทั้งหมดเกิดขึ้นในรถเมล์นั่นแหละ
พอเข้ามาในห้องเรียนจึงหน้าแดงมาเลย

นิสิตบอกว่า เข้าใจตัวเองแล้วว่า ทำไมเขาถึงมีระยะห่างจากคนอื่น เขาสร้างกำแพงเอาไว้ ไม่ยอมเข้าใกล้ใคร และไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ตัว ทำให้เขาไม่มีเพื่อนสนิท และหลายครั้งก็รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ก็เพราะเขากลัวผิดหวังซ้ำนั่นเอง

ตอนนี้เขารู้สึกโล่ง รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ชีวิตเปลี่ยนใหม่…

“ผมอัศจรรย์ใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่อ่านหนังสือของอาจารย์เล่มนี้แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ลึกซึ้งถึงเพียงนี้”

พอเขาเล่าเสร็จ อาจารย์ก็เลยทำ session กับเขาต่ออีกประมาณ 20 นาทีเพื่อ “ปิด-closure” กระบวนการ work ที่เขาทำกับตัวเองในรถเมล์ให้เรียบร้อย

หลังจากนั้นนิสิตก็มีความสุขขึ้น เพื่อนๆเองรู้สึกว่าเขายิ้มมากขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น (แต่อาจารย์กลับเหนื่อยขึ้น เพราะนิสิตไปเอาญาติอีกคนมาให้อาจารย์ ช่วยดูแลอีก 55)

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ทำให้อาจารย์คิดว่าหนังสือ “สร้างชีวิตใหม่” ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มจิตแพทย์เท่านั้น แต่ควรจะเปิดกว้าง เผื่อว่าหลายคนที่มีปัญหาและมีจิตใจพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต ก็จะได้เปลี่ยนแปลงจริงๆ

การสร้างชีวิตใหม่ควรเป็นโอกาสของทุกคน

จริงไหม?

Similar Posts