ไม่มีอะไรสายเกินไป ความลับของเด็กหญิง

วันนี้ขอเล่าความลับของเด็กหญิงคนหนึ่ง ชื่ออุมาพร (ชื่อตรงกับเจ้าของเพจเสียด้วย!)
อาจารย์ขออนุญาตเธอแล้วว่าจะเอาความลับมาเขียน เธอบอกว่า “โอเคเลยค่า”
ความลับของเด็กหญิงอุมาพร
ด.ญ.อุมาพร เรียนอยู่โรงเรียนหญิงล้วน เธอเป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่งทุกปี เธอเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่เคยก่อวีรกรรมใดๆ ไม่มีใครเคยได้ยินคำไม่สุภาพออกจากปากของเธอเลย (เธอบอกว่า แม้ตอนนี้อายุ 65 ปีแล้ว เธอยังไม่เคยพูดคำว่า “ทุเรศ” เลย ข้อนี้จริงนะ อาจารย์รับรอง 55)
เธอชอบเข้าห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบเม้าท์ และมีความรับผิดชอบสูง จนบางปีก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้อง ( ไม่เป็นทุกปีหรอกนะ ยอมให้เพื่อนๆ ได้รับเกียรติบ้าง 55)
ในสายตาของคุณครู เธอคือนักเรียนตัวอย่าง…
บ่ายวันหนึ่ง ตอนอยู่ประถมปีที่ 5 ในชั่วโมงคุณครูคนสวย ชื่อคุณครูรัตนา ด.ญ.อุมาพร เกิดง่วงหงาวหาวนอน (เธอมักง่วงบ่อยๆในตอนบ่าย) ก็เลยก้มหน้า แอบหยิบมะม่วงเค็มเข้าปาก
โต๊ะเรียนของเธอไม่เหมือนของเพื่อน เพราะเป็นโต๊ะควีนสำหรับที่หนึ่งของห้อง โต๊ะนี้พ่นสีครีมและเปิดจากด้านบน จึงสามารถมุดหน้าลงไปกินขนมได้โดยที่ไม่มีใครเห็น
พอเธอเงยหน้าขึ้นจากโต๊ะ คุณครูรัตนาก็ถามว่า “ใครกินขนม ยกมือขึ้น”
เพื่อนคนหนึ่งยกมือขึ้น แล้วเดินออกไปข้างหน้าชั้นโดยคุณครูไม่ต้องสั่ง (กฎของห้องคือ ใครทำผิดต้องแสดงตัว)
เด็กหญิงเอามือปิดปาก กระแอมดังพอให้คุณครูได้ยิน แล้วก็เปิดฝาโต๊ะ หยิบขวดยาแก้ไอที่คุณแม่ให้มาออกมาจิบ ราวกับจะบอกว่า “ที่หนูก้มลงในโต๊ะเมื่อกี้ก็เพื่อจิบยาแก้ไอนะคะ”
เสียงคุณครูดังขึ้นอีกครั้ง “ทุกคนรู้ว่าเรามีกฎห้ามกินขนมในห้องขณะที่ครูสอน ใครรู้ตัวว่าทำผิด ให้ยอมรับซะ”
ครูมองมาที่เด็กหญิง เธอรู้สึกว่าคุณครูมองเธอเป็นพิเศษ “หรือคุณครูจะรู้?” เธอนึกในใจ
“แต่ฉันจิบยาแก้ไอนะ” เธอบอกตัวเอง
(การยอมรับความจริงเพียงครึ่งเดียว เป็นวิธียอดนิยมที่คนเราใช้เอาตัวรอด แม้แต่เด็กๆ แต่มันคือการโกหกนั่นเอง)
วันนั้นจบลง ชีวิตดำเนินต่อไป อุมาพรเรียนจบมัธยมปีที่สาม ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่งเช่นเคย เธอสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อที่สุดคือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้อยู่ห้องคิง และในที่สุดสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
และแน่นอน ในปีการศึกษาแรก เธอสอบได้เกรด 4.00
เมื่อจบการศึกษา เธอได้รับทุนไปเรียนต่อระดับหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับ top ten ของสหรัฐอเมริกา
เธอกลับมาทำงานใช้ทุน โดยการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดิมนั่นเอง
เป็นครั้งคราวเมื่อเธอระลึกถึงวัยเด็ก ภาพวันนั้นก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำ นึกถึงวันน้ั้นแล้วเธอรู้สึกอาย เธอไม่ได้รู้สึกอายที่เธอทำผิดกฎของโรงเรียน แต่เธอรู้สึกอายที่เธอโกหก
อันที่จริง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เคยสอนให้เธอโกหก คุณพ่อเป็นตำรวจที่ซื่อสัตย์ แต่ทำไมเธอเป็นลูกไม้หล่นเสียไกลต้นแบบนี้นะ?
เอ๊ะ! สงสัยการโกหกและพยายามหนีความผิด คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเอาตัวรอดกระมังแต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม เธอก็รู้สึกไม่ดีที่ทำไปแบบนั้น
เธอไม่ได้โกหกคุณครูรัตนาเท่านั้น เธอโกหกเพื่อนทั้งห้อง!
วันหนึ่ง เธอไปร่วมประชุมที่สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่นั่นเธอพบคุณครูรัตนา เธอดีใจมาก ทั้งสองถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ คุณครูเล่าว่า หลังจากสอนเธอได้ไม่กี่ปี คุณครูก็ลาออกเพื่อไปศึกษาต่อ และตอนนี้มาทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบัน
กลับถึงบ้านในตอนเย็น อุมาพรนั่งคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นตอนประถม 5 ถึงวันนี้ภาพนั้นยังชัดเจน ภาพที่เธอนั่งเฉย ทั้งๆที่ควรยกมือขึ้น
แม้จะประสบความสำเร็จมากมาย แต่ก็ไม่สามารถยืดอกอย่างมีศักดิ์ศรีได้เมื่อนึกถึงความจริงที่ว่าตัวเอง “โกหก”
รุ่งขึ้นเธอไปที่สถาบันวิจัยอีก คุณครูรัตนามาร่วมประชุมด้วย เธอเข้าไปคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วก็วกเข้าประเด็น
“คุณครูจำได้ไหมคะว่าคุณครูสอนห้องหนู?”
“จำได้สิ…เดี๋ยวนี้หนูเป็นอาจารย์คนเก่งแล้ว ครูได้ยินชื่อเสียงที่คนร่ำลือบ่อยๆ รู้สึกภูมิใจแทน ยังบอกคนอื่นเลยนะว่า นี่เคยเป็นลูกศิษย์ของฉัน”
“มันมีเรื่องเกิดขึ้นในชั้นป.5 ครูถามว่าใครกินขนม แล้วหนูไม่กล้ายกมือ ทั้งๆที่หนูแอบกิน”
“อ๋อ!”
“ครูจำได้หรือคะ?”
“จำได้สิ ครูรู้ด้วยว่าหนูกิน”
“อืม… หนูก็คิดว่าครูต้องรู้ เพราะเหมือนครูจ้องหนู แต่ตอนนั้นหนูกลัวด้วย อายด้วย เลยไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองทำผิด”
“ครูถามซ้ำ เพื่อให้โอกาสหนู แต่หนูไม่ยกมือ ครูก็เลยปล่อยไป เพราะคิดว่า เมื่อหนูโตขึ้น หนูคงคิดได้เอง”
“ขอบคุณค่ะครู หนูได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ หนูประสบความสำเร็จ สอบได้คะแนนดี ได้ทุน ได้รางวัลงานวิจัย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจตัวเองเท่ากับเมื่อตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง ที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ตอนนั้นหนูยังเด็ก ไม่กล้าพอที่จะยอมรับผิด แต่พอคนเราทำผิดแล้ว มันก็รู้อยู่แก่ใจ….คิดถึงเรื่องนี้ทีไร หนูก็ไม่สบายใจ รู้สึกว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะทำใหม่ จะไม่เพียงยกมือ แต่จะยืนขึ้น และพูดเสียงดังฟังชัดว่า ‘เป็นฉันเองที่ทำผิด’… วันนี้หนูสบายใจ ได้บอกเรื่องนี้ให้คุณครูทราบ”
บทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีมาแล้ว ตอนนี้อุมาพรอายุ 65 แล้ว
สาระสำคัญที่อาจารย์ตกผลึกได้จากความลับของเด็กหญิงผู้นี้คือ
1 เกียรติยศและศักดิ์ศรีที่ได้จากความสำเร็จหรือทรัพย์สินเงินทอง ไม่ลึกซึ้งและมีความหมายเท่าจากการพยายามทำสิ่งที่ดีงาม
2 คนเราทำผิดพลาดได้ เมื่อทำผิดแล้วอย่านิ่งเฉย ต้องพยายามแก้ไข แก้ไขช้าก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
3 แม้คนทั้งโลกจะไม่รู้ว่าเราทำผิด แต่ตัวเราเองรู้อยู่แก่ใจ
4 ความกล้าหาญที่จะยอมรับผิด ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ หรอก มันเป็นของที่ต้องพยายามสร้างขึ้นในชีวิต
5 จะเดินเชิดหน้า หลังตรง ก้าวไปอย่างมีศักดิ์ศรี ก็ต้องตรวจสอบชีวิตของตัวเอง หากมีอะไรที่ผิดพลาด ก็แก้ไขซะ