เรื่องของปัญหาวัยรุ่นตอนที่ 2

เรื่องของวัยรุ่นตอนที่ 2 (อ่านตอนแรกได้ที่นี่ ปัญหาวัยรุ่น)
ทำไมในวัยรุ่นจึงมีปัญหามากมาย ?
เด็กจำนวนมากเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะรู้สึกว่าจัดการกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เคยมีในวัยเด็ก เช่น ปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่ลงรอยกัน หรือเข้ากับพี่ๆน้องๆไม่ค่อยได้นั้น ในตอนเป็นเด็กอาจจะไม่ค่อยรับรู้ได้มากเท่าไหร่ แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว
– ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ซับซ้อนขึ้น
– รู้สึกได้มากขึ้นและอ่อนไหวขึ้น
– รับรู้ปัญหาได้มากขึ้นว่าโลกรอบตัวเป็นอย่างไร
– กระบวนการคิดก็ซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ทำให้วัยรุ่นมองเห็นปัญหาในแบบที่ไม่เคยมองมาก่อน แล้วรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่แต่ก่อนนี้อาจจะไม่เคยเจ็บปวด
วัยรุ่นจำนวนมากปรับตัวกับสถานการณ์ที่ลำบากใจหรือความทุกข์ใจที่ซ่อนอยู่ข้างใน โดยใช้กลไกปฏิเสธ ที่เรียกว่า
Denial หรือใช้ projection
คือโยน (ความผิดหรือความรู้สึกบางอย่างที่ตนไม่ชอบ) ไปให้คนอื่น บางคนก็ใช้วิธีดื้อเงียบ ที่เรียกว่า
Passive aggressive
คือไม่ได้แสดงความรุนแรง แต่ไม่ทำตาม หรือเก็บความไม่เห็นด้วยไม่เข้าใจไม่พอใจ ไว้ในใจ และบางคนก็ใช้วิธีที่เรียกว่า
Acting out
คือแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอาละวาด ก่อเรื่อง หรือพฤติกรรมอื่นๆมากมายที่ไม่ดี acting out เป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยมาก เมื่อวัยรุ่นไม่มีความสุขก็จะแสดงออกมาเป็นอาการโกรธ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง ทะเลาะกับพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว ไม่ยอมเรียนหนังสือหรือมีพฤติกรรมเกเร ทำผิดกฎหมาย ใช้สารเสพติดหรือหนีออกจากบ้าน
อันที่จริง ถ้าสามารถดูเข้าไปในใจของเด็กเหล่านี้ก็จะพบความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกช่วยตัวเองไม่ได้ (helplessness) ความรู้สึกว่าฉันไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้
ในบางคนความรู้สึกเหล่านี้ท่วมท้นและอาจจะทำให้รู้สึกหมดหวัง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายในที่สุด
ในตำราต่างประเทศมักใช้คำว่า psychic pain สำหรับเรียกความเจ็บปวดที่วัยรุ่นเผชิญ (คำว่า psychic แปลว่าจิตใจ)
คราวหน้ามาดูกันว่าจะช่วยเยียวยาความเจ็บปวดหัวใจหรือ psychic pain ของลูก ๆ หลาน ๆ ของเราอย่างไร
#ปั้นใหม่ #เข้าใจวัยรุ่น #เลี้ยงลูกให้สุขเป็น