เข้าใจลูกวัยรุ่น เข้าใจม็อบ

เข้าใจลูกวัยรุ่นมั้ยว่า..
“………วัยรุ่นมองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และเป็นสิ่งเดียวที่น่าสนใจ แต่ในทางตรงข้าม ไม่มีเวลาใดในช่วงชีวิตที่คนเราจะสามารถเสียสละตัวเองและอุทิศตัวได้มากเท่านี้
วัยรุ่นอาจรักได้อย่างสุดหัวใจ แล้วก็ทิ้งความรักนั้นได้อย่างรวดเร็วพอๆ กับที่เขาเริ่มต้นมัน ในแง่หนึ่งวัยรุ่นอุทิศตัวอย่างกระตือรือร้นให้สังคม แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็ปรารถนาความสงบเงียบและความสันโดษ วัยรุ่นแกว่งไปมาระหว่างการยอมตนอย่างไม่ลืมหูลืมตาให้กับผู้นำที่ตนเลือก และการกบฏอย่างดื้อรั้นต่อทุกอำนาจที่มีอยู่
เขาอาจดูเห็นแก่ตัวและเป็นวัตถุนิยม แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เต็มไปด้วยอุดมคติอันสูงส่ง บางทีเขาก็พิถีพิถันละเมียดละไม แต่แล้วก็อาจปล่อยตัวให้เขละอย่างสุดๆ บางครั้งเขาปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างหยาบคายและไม่นึกถึงใจใคร แต่ตัวเขาเองก็อ่อนไหวเสียเหลือเกิน อารมณ์ของวัยรุ่นแกว่งไปมาระหว่างความเบิกบานและการมองโลกในแง่ดี กับความสิ้นหวังเพราะมองโลกในแง่ร้าย บางครั้งเขาจะทำงานอย่างกระตือรือร้น โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แต่บางครั้งก็เชื่องช้า เฉยเมยและเกียจคร้าน……”
ถอดความจาก ข้อเขียนของ Anna Freud หนังสือ The Ego and the Mechanism of Defense
อาจารย์เขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “เข้าใจวัยรุ่นในศตวรรษที่ 21” (เขียนจบมาหลายเพลาแล้ว แต่ไม่ว่างพอจะขัดเกลาต้นฉบับเลย -สงสัยขี้เกียจเพราะกำลังเข้าวัยรุ่น55)
วันนี้ตอนจัดกล่องที่เก็บโน้ตต่างๆ ก็ไปเจอต้นฉบับเข้า อ่านที่ตัวเองเขียนคำนำไว้แล้ว รู้สึกว่ามันเหมาะกับเวลานี้เสียเหลือเกิน เลยคัดมาเฉพาะท่อนที่อ้างอิงข้อเขียนของแอนนา ฟรอยด์ -Anna Freud (บุตรสาวของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ -Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์) เธอเป็นผู้ให้กำเนิด child psychoanalysis หรือทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเด็ก
หวังว่าพ่อแม่อ่านแล้วจะเข้าใจลูกมากขึ้น และคงจะเข้าใจว่าทำไมวันนี้ลูกของเราจึงเป็นอย่างนี้? ทำไมวันนี้เขาต้องไปม็อบ?(แม้ว่าการเกิดม็อบมีหลายปัจจัย แต่ที่ลูกของเราไปร่วม มาจากปัจจัยแง่พัฒนาการของวัยนี้ด้วย)
เข้าใจแล้วก็ใจเย็นๆ อย่าทะเลาะกัน ค่อยๆจัดการเรื่องนี้ตามที่แนะนำไว้ในโพสต์เมื่อวันก่อนนะคะ
อ่าน ลูกสาวอยากไปม็อบทำอย่างไรดี
#ปั้นใหม่